กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี จัดกิจกรรมรณรงค์ค้นหาผู้ป่วยวัณโรคกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสรับและแพร่กระจายเชื้อวัณโรคได้สูง และเข้าถึงบริการสุขภาพได้ยากกว่าคนทั่วไป โดยการสร้างแกนนำอาสาสมัครวัณโรคในเรือนจำ
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อสำคัญที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากยังพบผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยกว่า 80,000 รายต่อปี และเสียชีวตจากโรคนี้มากถึง 10,000 รายต่อปี ที่สำคัญยังมีปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนานที่คาดว่าอาจมีมากถึง 20,000 รายในประเทศไทย วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจและติดต่อจากคนสู่คน ประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็นวัณโรค ได้แก่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอช ไอ วี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ติดสุรา ซึ่งประชากรที่มีความเสี่ยงติดโรค ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ บุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยวัณโรค ผู้ต้องขังในเรือนจำ แรงงานข้ามถิ่น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสรับและแพร่กระจายเชื้อวัณโรคได้สูง และมีบางกลุ่มที่เข้าถึงบริการสุขภาพได้ยากกว่าคนทั่วไป การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการลดการแพร่กระจายเชื้อ เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงได้รับการวินิจฉัย เข้าสู่ระบบการรักษาและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่จนหายขาด และลดปัญหาการดื้อยาวัณโรค การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุกโดยการคัดกรองประชากรในกลุ่มเป้าหมาย เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญที่จะช่วยค้นหาและให้ผู้ที่มีอาการสงสัยวัณโรคให้ ได้รับตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ในระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นการตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อและลดอัตราการเสียชีวิตจากการป่วยด้วยวัณโรค
นพ.ศรายุธ กล่าวต่ออีกว่า เนื่องในวันวัณโรคโลกสากล 24 มี.ค.นี้ ทาง Stop TB Partnership ได้มี Sub-theme ขึ้นมาเพื่อเป็นข้อความสื่อไปถึงทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ “Reach, Treat, Cure Everyone ” ภาษาไทย คือ “เข้าถึงทุกราย รักษาหายทุกคน” แปลรวมๆได้ว่า “เราจะร่วมกันค้นหาผู้ป่วยวัณโรคที่ยังเหลืออยู่และเป็นปัญหาทั้งหมด ไม่ว่าจะมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ มารักษาให้หายขาดทุกๆราย” สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในเรือนจำจังหวัดยโสธร ในวันที่ 24 มี.ค.58 เพื่อสร้างแกนนำอาสาสมัครวัณโรคในเรือนจำ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับวัณโรคแก่อาสาสมัครเรือนจำ อาทิ ขั้นตอนการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ แนวทางการเก็บสิ่งส่งตรวจ การใช้เครื่องมือในการคัดกรองหาผู้ป่วยวัณโรค รวมทั้งส่งเสริมและสร้างกระแสให้ผู้ต้องขังในเรือนจำเกิดการรับรู้ ตื่นตัว ตระหนักและมีความรู้ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันวัณโรค
นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันตนเองจากวัณโรคได้โดย รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น การใช้สารเสพติด เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดหรือตรวจเสมหะ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจี รวมถึงผู้ที่ทำการทดสอบทูเบอร์คูลินเทสท์ (Tuberculin test)ให้ผลเป็นลบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญหากมีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง ๒ สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ต่ำๆโดยเฉพาะตอนบ่ายหรือค่ำ เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปรับการตรวจรักษาโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากพบว่าป่วยต้องกินยาให้ครบรักษาให้หายขาดเพื่อป้องกันเชื้อวัณโรคดื้อยา ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" น.พ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย