กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาที่มีความสำคัญต่อสังคมปัจจุบัน เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคนทั้งในการดำรงชีวิตประจำวันและในงานอาชีพต่างๆ วิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ และจุดประกายให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เนื่องจากเป็นแขนงวิชาที่ปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้จักวิเคราะห์บนบรรทัดฐานของเหตุและผล การขวนขวายหาความรู้ทั้งจากตำรา และการชี้แนะจากครูผู้สอนเนื่องจากเป็นศาสตร์ที่ต้องลงมือทดลอง เพื่อให้สามารถเข้าใจทฤษฎีต่างๆ และฝึกฝนทักษะการสังเกตและประเมินผลได้อย่างถ่องแท้
ครูวิทยาศาสตร์จึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ ได้ โดยเฉพาะวิชาเคมี ซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ศูนย์กลาง เพราะเป็นวิชาช่วยที่เชื่อมโยงให้ผู้เรียนสามารถต่อยอดไปยังวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ
การเรียนวิชาเคมีนั้น การเรียนและการทดลองต้องทำควบคู่กันไปจึงจะมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถยึดเอาหลักทฤษฎีจากหนังสือเรียนอย่างเดียวได้ ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการเตรียมการทดลอง ตรวจสอบผล และประเมินความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทว่าการสอนวิชาเคมีในโรงเรียนไทยในปัจจุบันยังขาดการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ด้วยข้อจำกัดด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ และสารเคมีที่มีราคาแพง นักเรียนส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับประสบการณ์การทำการทดลองวิทยาศาสตร์จริงๆ ทำให้ขาดแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อในด้านนี้
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย หนึ่งในกลุ่มบริษัทวิทยาศาสตร์ชั้นนำ และพันธมิตรเล็งเห็นความท้าทายในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ จึงได้นำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (small-scale chemistry laboratory) ซึ่งเป็นการนำอุปกรณ์การทดลองขนาดเล็กที่มีราคาถูก สามารถหาได้ทั่วไป ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการปฏิบัติการเคมีเข้ามาใช้ภายใต้โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” และได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนมาถึงระยะที่ 5 ของโครงการ คือ กิจกรรม "ติวเข้มครูวิทย์ ติดอาวุธเดอะเทรนเนอร์" ต่อยอดเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนผ่านการฝึกอบรมครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบดีเด่นที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสอนและนักวิชาการเคมีที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อเผยแพร่เทคนิคอันเป็นประโยชน์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไป เนื่องจากตระหนักดีว่าหากจะยกระดับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนไทยรักวิชาวิทยาศาสตร์ให้ได้นั้น ครูผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ และเป็นนักปฏิบัติที่มีความเชี่ยวชาญเสียก่อน
นายบพิตร แสงรัตนชัย ครูชำนาญการ โรงเรียนสุนทรภู่พิทยา ครูผู้สอนวิชาเคมีมากว่า 32 ปี กล่าวว่า “ครูส่วนใหญ่มีความคิดว่าการทดลองทางเคมีจะต้องทำตามหนังสือเรียนทุกข้อ ทำให้เสียเงินมากมายไปกับการซื้อสารเคมีและอุปกรณ์ต่างๆ และยังมีความเชื่อว่าการทำการทดลองจะต้องทำในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลย ปัจจุบันเราสามารถหาทางเลือกจากแหล่งต่างๆ ได้ ไม่ต้องยึดติดกับหลักปฏิบัติเดิม เราสามารถนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาปรับใช้กับสิ่งรอบตัวที่เรามีได้”
เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนเป็นวิธีการทดลองที่มีประสิทธิภาพและได้รับการใช้กันอย่างแพร่หลายในจุลชีววิทยา ชีววิทยาระดับโมเลกุล เทคนิคการแพทย์ และการทดลองนาโนเทคโนโลยี รวมถึงการเรียนวิชาเคมีทั่วโลก ทั้งในอังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย เม็กซิโก ญี่ปุ่นและจีน ฯลฯ โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” เป็นโครงการที่นำเทคนิคนี้เข้ามาใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาเคมีของไทย
นายโกศล มั่นจิต ครูวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร กล่าวว่า “หลังจากที่ได้นำเอาเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาใช้ในห้องเรียน เห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน นักเรียนให้ความร่วมมือมากขึ้นเพราะได้ทำการทดลองด้วยตัวเองและเห็นผลการทดลองจริงๆ ซึ่งเป็นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่ได้ผลดีที่สุด”
โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 18 และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1ระยอง เพื่อส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้การทดลองเคมีที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การยูเนสโก
รศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกกิตติคุณสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และผู้อำนวยการปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” กล่าวว่า “เด็กนักเรียนไทยมีแนวโน้มที่จะไม่ศึกษาต่อทางด้านวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นวิชาชีพที่ถูกมองว่ารายได้น้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นหรือมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อความคิดแบบนี้ คือการที่การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนไม่สามารถทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกสนใจในวิชาที่เรียน ครูมักจะยืนสอนและทำการทดลองหน้าห้อง นักเรียนไม่มีโอกาสได้ทำการทดลองด้วยตัวเอง การนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนเข้ามาใช้ในห้องเรียนจึงเป็นตัวช่วยสร้างโอกาสมากมายให้ครูและนักเรียนในด้านวิทยาศาสตร์ต่อๆ ไป”
นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า“จุดมุ่งหมายของเราคือการเผยแพร่เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้ขยายไปในวงกว้างและต่อยอดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจะไม่เร่งทำการอบรมให้กับครูจำนวนมากในครั้งเดียว แล้วหยุดที่ตรงนั้น แต่เราจะใช้วิธีการอบรมอย่างเข้มข้นแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปมากกว่า เพราะจะทำให้เราสามารถควบคุมคุณภาพและมั่นใจว่าครูทุกท่านทุ่มเทอย่างเต็มที่ ครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบดีเด่นที่เราคัดเลือกมาเป็นความภาคภูมิใจของโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว”พวกเขาจะก้าวไปเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ของไทย”
ปัจจุบัน โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ได้มีการขยายผลต่อเนื่องมาทั้งหมด 5 ระยะ ครอบคลุมการแนะนำ การฝึกอบรมครูวิทยาศาสตร์ จาก 21 โรงเรียนนำร่องในจังหวัดระยอง การติดตามและประเมิน การประกวดการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ และรายงานผลการเรียนการสอน และล่าสุด กิจกรรม “ติวเข้มครูวิทย์ ติดอาวุธเดอะเทรนเนอร์” สำหรับครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบดีเด่น