กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--กพช.
กพช. เห็นชอบโครงสร้างค่าไฟฟ้า พร้อมยืนค่าไฟฟ้าฐานเดิมคงที่ไปอีก 3 ปี Ft สูตรใหม่ คิดเฉพาะค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า เริ่มใช้ในรอบเดือน ตุลาคม 48 - มกราคม 2549 ระบุจะทำให้ค่าไฟฟ้ามีความชัดเจนและสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เปิดเผยว่า การประชุม กพช. วันนี้ (17 ตุลาคม 2548) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ประกอบด้วย โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า โดยอัตโนมัติ (เอฟที) และโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง รวมถึงเห็นชอบการชดเชยรายได้ระหว่าง 2 การไฟฟ้า เพื่อให้มีอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกเท่ากันทั่วประเทศ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในชนบทห่างไกลได้ใช้ไฟในราคาเดียวกัน
ทั้งนี้ การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกใหม่ จะประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐานที่ระดับ 2.25 บาทต่อหน่วย ซึ่งคงที่ตลอดเวลา 3 ปี (ต.ค. 2548-2551) และค่าเอฟทีที่ระดับปัจจุบัน 46.83 สตางค์ต่อหน่วย และค่าเอฟทีที่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับปัจจุบัน ซึ่งจะคำนวณตามค่าใช้จ่ายด้าน เชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าเอฟทีในปัจจุบัน
สำหรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง ตามที่ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) (บมจ.กฟผ.) ขายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะกำหนดเป็นโครงสร้างเดียวกัน ประกอบด้วย ค่าผลิตไฟฟ้า และค่ากิจการระบบส่ง โดยค่าไฟฟ้าจะแตกต่างกันตามระดับแรงดัน และช่วงเวลาของการใช้ โดย บมจ. กฟผ. จะลดราคาค่าไฟฟ้าขายส่งจากราคาค่าไฟฟ้าขายส่งในปัจจุบันลง 3.54% เพื่อทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนเงินลงทุน (ROIC) ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เฉลี่ย 3 ปี (2549-2551) อยู่ในระดับ 6.5% โดย บมจ. กฟผ. อยู่ที่ระดับ 8.39% ส่วน กฟน. และ กฟภ. อยู่ที่ระดับ 4.80% เท่ากัน
นอกจากนั้น เพื่อให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของการไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น ได้กำหนดให้มีการนำค่าสัมประสิทธิ์ความยืดหยุ่นของต้นทุนต่อปริมาณ (CVE) เท่ากับ 0.8 มาใช้ หมายถึง การจำหน่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะยอมให้การไฟฟ้าส่งผ่านต้นทุนในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้เพียง 0.8 ของต้นทุนต่อหน่วยเท่านั้น และใช้หลักการ CPI-X โดยกำหนดค่าตัวประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพ (ค่า X) ในกิจการผลิต กิจการระบบส่ง และกิจการระบบจำหน่ายและค้าปลีกไฟฟ้า เช่นเดียวกับปัจจุบัน
ส่วนการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยให้มีอัตราเท่ากันทั่วประเทศ โดยให้มีการชดเชยรายได้แบบเหมาจ่ายจาก กฟน. ไปยัง กฟภ. ตั้งแต่ปี 2548 - 2551 เท่ากับ 9,083 10,507 10,728 และ 11,014 ล้านบาทต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตามจะมีกำหนดหลักเกณฑ์ในการปรับปรุงการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าเป็นประจำทุกปี โดยจะมีการพิจารณาถึงกรอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพร่วมด้วย--จบ--