กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูว่า ขณะนี้ครบกำหนดระยะเวลาที่ออกหน่วยเคลื่อนที่เรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่า มีเรือประมงเข้ารับการจดทะเบียนใหม่ จำนวน 4,243 ลำ และสามารถออกอาชญาบัตรการทำประมงได้ จำนวน 12,455 ลำ ซึ่งถือได้ว่าภายในระยะเวลาดำเนินการเพียงเดือนกว่าๆ มีปริมาณยอดของการจดทะเบียนเรือเพิ่มสูงขึ้นเท่านี้นั้นถือว่าเป็นที่น่าพอใจ โดยขณะนี้มีเรือประมงที่จดทะเบียนรวมทั้งหมด 50,710 ลำ และเรือประมงมีใบอนุญาตทำการประมงรวม 28,364 ลำ ถึงแม้จะสิ้นสุดระยะเวลาที่ออกหน่วย One Stop Service หากผู้ประกอบการเรือประมงรายใดยังไม่ได้มาดำเนินการจดทะเบียนเรือให้ติดต่อที่หน่วยงานของกรมเจ้าท่าในพื้นที่ หรือขอใบอนุญาตทำการประมงได้ที่อำเภอท้องที่
ส่วนในด้านความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจะจัดตั้งศูนย์ควบคุมเฝ้าระวังการทำประมง จำนวน 18 ศูนย์ และจะจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกของเรือประมง (Port in - Port out) จำนวน 26 ศูนย์ เพื่อรับแจ้งและตรวจสอบเรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปที่เข้าและออกจากท่าเทียบเรือ โดยจะตรวจสอบข้อมูลทะเบียนเรือ ใบอนุญาตทำการประมง แรงงานบนเรือประมง และอุปกรณ์ประจำเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ติดตามเรือประมงหรือ VMS ซึ่งกรมประมงได้จัดสรรงบประมาณในปีนี้ ประมาณ 10 ล้านบาท ในการปรับปรุงระบบควบคุม VMS ที่ส่วนกลาง ทั้งนี้ กรมประมงได้กำหนดพื้นที่นำร่องการแจ้งเข้า-ออกของเรือประมง จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สงขลา ระนอง และภูเก็ต คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนเมษายน 2558
ด้านนายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมากรมประมงได้จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินงานตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า รวมทั้งฝึกปฏิบัติการตรวจสัตว์น้ำและขึ้นตรวจเรือประมงที่มาจากต่างชาติ ขณะที่ความคืบหน้าในการจัดทำร่างแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPOA – IUU) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างสุดท้ายแล้ว
ขณะเดียวกัน ยังได้เดินทางไปยังเมืองบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม เพื่อรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูของประเทศไทย ให้อียูได้ทราบ ซึ่งสหภาพยุโรปมีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการติดตั้งระบบ VMS และ NPOA – IUU ส่วนในด้านของกฎหมายประมงและการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) จะต้องมีการปรับปรุงและชี้แจงทำความเข้าใจกับอียูโดยเร่งด่วนต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดของกรมประมง เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการประมงไอยูยู ซึ่งหากดำเนินงานได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะเป็นการแสดงให้สหภาพยุโรปเห็นถึงความเข้มแข็งของประเทศไทยที่มุ่งมั่นช่วยกันขจัดการทำประมงไอยูยูได้