กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
“ปีติพงศ์” เตรียมเสนอแผนช่วยเกษตรกรระยะ 3 เข้าครม.เศรษฐกิจ 30 มี.ค.นี้ก่อนเสนอครม.เห็นชอบ หลังผลประเมินมาตรการอัดเม็ดเงินสองระยะแรกส่งผลให้รายได้นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น สวนทางแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนเกษตรสูง- เงินออมลด วอนผู้ประกอบการ-แบงค์วางมาตรการช่วยลดภาระหนี้สินเกษตรกรในระยะยาวรองรับเศรษฐกิจโลกผันผวน
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรครบรอบปีที่ 36 พร้อมร่วมแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2558 ว่า จากการประเมินผลรายได้เกษตรกร ณ วันที่ 7 มี.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นคือ กลุ่มประมงและปศุสัตว์ ขณะที่เมื่อรวมรายได้นอกภาคเกษตรที่ภาครัฐอัดฉีดงบประมาณผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการชดเชยรายได้ชาวนาและชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท รวมถึงการจ้างงานแล้ว ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 6% ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายเงินในครัวเรือนภาคเกษตรก็เพิ่มขึ้น 4 % สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนรายจ่ายนอกภาคเกษตรก็ยังเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีกำไรสุทธิขาดทุนอยู่ประมาณ 1.6% หรือประมาณ 700 บาท ดังนั้น รัฐบาลยังต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรให้ต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรในระยะที่สามที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ซึ่งบางโครงการจะต้องเสนองบประมาณเพิ่มเติมแต่บางโครงการเป็นการปรับระบบการบริหารจัดการทเท่านั้นไม่ได้ของบประมาณเพิ่มเติมแต่อย่างใด ประกอบด้วย 6 แผนงาน หลัก คือ
1. แผนปรับโครงการสร้างการผลิต เนื่องจากใกล้ระยะเวลาเพาะปลูกของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ข้าวโพด โดยการปรับวิธีการส่งเสริมการเกษตรโดยตรง เน้นเรื่องการจัดโซนการผลิต การย้ายการผลิตบางประเภทให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม บริหารจัดการแปลงใหญ่และมีผู้จัดการโครงการ เพื่อให้สามาถประเมินผลโครงการได้และเกิดความเชื่อมโยงต่อเนื่อง ทั้งกลุ่ม พืช ประมง และปศุสัตว์
2. การเพิ่มช่องทางตลาดสินค้าเกษตร เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งส่งผลทำให้เกษตรกรมีส่วนต่างของรายได้ที่สูงขึ้น รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตร
3. การจัดการหนี้สินเกษตรกร โดยแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือหนี้สินของเกษตรกรบางประเภทที่กระทรวงเกษตรฯ ดูแลจะมีความชัดเจนในการยกหนี้ให้เร็วๆนี้ ส่วนที่สอง คือ หนี้ครัวเรือนสะสม มีความจำเป็นต้องดูว่ารายได้ เงินรายได้สุทธิเกษตรกร จะพอเพียงจะจ่ายหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่ จะแบ่งจ่ายปีนี้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้หนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ธกส.จะออกมาตรการในการชะลอหนี้บ้างแล้ว แต่อยากฝากถึงผู้ประกอบการ เจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงินควรจะพิจารณาวางมาตรการช่วยเหลือล่วงหน้าไม่ใช่เป็นแบบปีต่อปีทำให้เกิดช่องว่างและเป็นปัญหาได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของราคาน้ำมัน หรือสงคราม ที่กระทบการท่องเที่ยวและการใข้จ่ายของประชาชน
4.การจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กับน้ำ โดยเรื่องของการจัดการน้ำที่ขณะนี้กระทรวงการคลังเตรียมกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อให้กรมชลประทานขยายแหล่งน้ำให้เพิ่มขึ้นเป็นไปตามนโนบายจัดการน้ำ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะเร่งรัดการบริหารจัดการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเร็ว รวมถึงดูว่าวิธีการปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกันสถานการณ์ เช่น เลื่อนการเพาะปลูกให้เร็วขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม หรือความแห้งแล้ง ส่วนด้านการจัดที่ดินทำกินที่ได้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเร่งรัดการตรวจสอบการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ก็จะมีการผลดำเนินงานเข้าสู่ที่ประขุมคกก.ปฏิรูปที่ดินฯ ในวันที่ 7 เม.ย.58 5. การจัดการเรื่องบริหารคุณภาพสินค้า กฏระเบียบและกฏหมายที่ต้องแก้ไขรวมถึงเร่งรัดดำเนินคดีที่พบว่ามีความล่าช้า ให้มีการดำเนินการเร็วขึ้น 6 การพัฒนาข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรให้ถูกต้องแม่นยำ รวมถึงการปรับปรุงแอพพลิเคชั่นให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลด้านการเกษตรได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์