กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานประชุมสามัญ ประจำปี 2558 เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม 2558 ณ ห้อง Plenary Hall 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีสมาชิกจากทั่วประเทศร่วมประชุมอย่างคับคั่ง และได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ ด้าน “สุพันธุ์” ชี้ เดินหน้าทำงานร่วมภาครัฐเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม พร้อมให้ความมั่นใจสมาชิก จะดำเนินงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของสมาชิก ภาคอุตสาหกรรม สังคม และประเทศชาติ ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกถึง 10,000 ราย ในปี 2558 นี้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นอกจากการประชุมสามัญ ประจำปี 2558 ในครั้งนี้ จะเป็นการรวมตัวสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ ที่มาจากทั่วประเทศ เพื่อร่วมประชุมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมฯ ตลอดปี 2557 ที่ผ่านมา แล้วยังเปรียบเสมือนเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่มาพบปะ และแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน พร้อมกันนั้น การประชุมในครั้งนี้ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ให้เกียรติมากล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าของประเทศไทย และนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงทิศทางอุตสาหกรรมไทยในปี 2558 พร้อมมอบรางวัลเกียรติยศ “เฟืองทอง” ให้กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และกลุ่มอุตสาหกรรม ให้แก่สมาชิก ส.อ.ท. อีกด้วย
สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นองค์กรที่สนับสนุนและเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างบูรณาการ จึงได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนดำเนินโครงการต่างๆ มากมาย อีกทั้งเป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเสนอแนวทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาล ในการ พัฒนา และยกระดับผลิตภาพของอุตสาหกรรม พร้อมทั้งพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของสมาชิก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและความสมานฉันท์ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถการแข่งขันได้ในระดับสากล ดังเช่นการตอบรับร่วมงานการประชุมสามัญประจำปี 2558 ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี พร้อมผู้บริหารระดับสูง กระทรวงอุตสาหกรรม ในครั้งนี้
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมฯ ในปี 2557 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าดำเนินงานประสบความสำเร็จตามยุทธศาสตร์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวาระปี 2557 – 2559 ที่ตั้งไว้ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1:สร้างความเป็นเอกภาพของสมาชิก โดยร่วมกันจัดทำกรอบแนวความคิดและกลยุทธ์ตามกรอบยุทธศาสตร์ ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ของ ส.อ.ท. วาระปี 2557 – 2559 อีกทั้ง กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็ง จากความร่วมมือของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั้งในระดับภาคและระดับจังหวัด
ยุทธศาสตร์ที่ 2: ยกระดับอุตสาหกรรมและ SMEs ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน (AEC Regional Industrial Hub)
ส่งเสริมสนับสนุน SMEs เป็นวาระแห่งชาติ โดย ส.อ.ท. ได้ผลักดันต่อภาครัฐให้ SMEs เป็นวาระแห่งชาติ โดยเสนอต่อภาครัฐในการกำหนดมาตรการส่งเสริม SMEs ระยะเร่งด่วน นอกจากนี้ยังร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการส่งเสริมการขยายช่องทางการค้า ภายใต้โครงการ SMI Fast Track และการจัดงาน SCB –FTI Factory Outlet เป็นครั้งที่ 10 ตลอดจนร่วมมือกับ SME Bank ในโครงการ SMEs Pro-active ให้บริการโครงการสินเชื่อ 9 เมนู คืนความสุขให้ SMEs
- การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศ
ผลักดันแก้ไขกฎหมาย สำคัญเร่งด่วนและข้อร้องเรียนที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ กฎหมายศุลกากร กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ การจ้างงานคนพิการ แสดงจุดยืนปัญหาTip Report-Tier 3 ขอยกเลิกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้กับรถยนต์และเครื่องปรับอากาศขนาดต่ำกว่า 72,000 บีทียู ขอผ่อนผันการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งครบกำหนดการจ้างงาน 4 ปี เป็นต้น
โครงการนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ Young - F.T.I. ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เช่น จังหวัดขอนแก่น
เสนอแนะแนวนโยบายด้านแรงงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว จัดตั้งและดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการจัดการแรงงานต่างด้าว และผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน
- พัฒนาการค้าชายแดน และ โลจิสติกส์ โดยผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน พร้อมเสนอปรับปรุงและขยายเวลาเปิด - ปิดด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ ในระยะแรก จำนวน 5 พื้นที่ คือ ด่านแม่สอด จังหวัดตาก ด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว พื้นที่ชายแดน จังหวัดตราด พื้นที่ชายแดน จังหวัดมุกดาหาร ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา (ด่านศุลกากรสะเดาและปาดังเบซาร์)
- การสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยการจัดตั้ง 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม เพื่อสร้างความร่วมมือในแต่ละอุตสาหกรรมและระหว่างแต่ละคลัสเตอร์ด้วยกันเอง โดยอยูระหว่างการจัดตั้งอีก 2 คลัสเตอร์ คือ คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตร
-การร่วมมือกับต่างประเทศในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อสร้างความสัมพันธ์ เจรจาธุรกิจ สร้างเครือข่ายเพื่อขยายโอกาสและช่องทางทางการค้าอย่างกว้างขวาง
-สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ โดยประสานงานกับภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อผลักดันและเสนอความเห็นในหลายประเด็นภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานชุดต่างๆ อาทิ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือ กรอ. รวมไปถึงความร่วมมือกับกระทรวงด้านเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนการขยายตัวของอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชนต่างๆ โดย ส.อ.ท. เข้าร่วมเป็นกรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ กว่า 400 คณะ
-การพัฒนาทางด้าน IT / GS1 เพื่อสมาชิก ส.อ.ท. โดยพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคDigital Economy {ดิจิตอล-อีโคโนมี่} โดยการเพิ่มช่องทางต่างๆในการสื่อสารกับสมาชิกและบุคคลทั่วไปเพื่อความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
ยุทธศาสตร์ที่ 3: เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) ส.อ.ท. ได้เข้าร่วมการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยจัดตั้งคณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งเป็นหนึ่งในองค์กรหลักแสดงเจตนารมณ์และจุดยืนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น และให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรม CSR ไม่ว่าจะเป็น โครงการห้องสมุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การมอบเงินรายได้จากการออกสลากกาชาดประจำปี 2557 ให้สภากาชาดไทย การตั้งโครงการชุมชนปลอดขยะรอบโรงไฟฟ้า การจัดทำแผนแม่บท Eco Town ใน 5 พื้นที่ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการ Green Card บัตรเดียวเขียวทั่วไทย ตลอดจนจัดตั้งศูนย์เผยแพร่การอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 4: พัฒนาบุคลากรและปรับโครงสร้างสภาอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง โดย ส.อ.ท. อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพุทธศักราช 2530รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม โดยร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติรวมทั้งพัฒนาและทดสอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนกว่า 3,000 คน ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุมในการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ รวมไปถึงการส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบการกว่า 40 บริษัท เป็นต้น
และยุทธศาสตร์ที่ 5: สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งให้ความสำคัญกับงานวิจัย พัฒนานวัตกรรม และดึงงานวิจัยที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ อาทิ โครงการ Talent Mobility โครงการจาก“หิ้ง” สู่ “ห้าง” พัฒนานวัตกรรมใหม่ภายใต้โครงการคูปองนวัตกรรม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะที่ 2 ในปี 2557 – 2559 ตลอดจนร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาและอนุรักษ์พลังงาน จัดทำโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Gasification แบบ Multi Feed-stock ในประเทศไทยและให้ขยายผลลงสู่ชุมชนได้
“ตลอดระยะเวลาที่ผมดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผมพร้อมที่จะทุ่มเททุกสรรพกำลัง ในการดำเนินการตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่น และการร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ประกอบการไทยให้เข้มแข็ง พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เกิดความมั่งคั่งและยั่งยืน” นายสุพันธุ์ กล่าว