กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผย ช่วง 2 เดือนแรก มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตฯเป้าหมายรัฐบาลรวมมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท ทั้ง ซอฟต์แวร์ พลังงานทดแทน กิจการ ITC และ IHQ กิจการเกษตรแปรรูป มั่นใจเกิดการลงทุนที่สร้างคุณค่า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมตั้งอนุกรรมการ บูรณาการข้อมูลการลงทุนเพื่อร่วมผลักดันการลงทุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่
นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2558) มีนักลงทุนทั้งไทยและจากต่างประเทศได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย รวมจำนวนทั้งสิ้น 67 โครงการ เงินลงทุนรวม 13,276 ล้านบาท ซึ่งกระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ และสอดคล้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล อาทิ กิจการซอฟต์แวร์ สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล กิจการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และชีวมวล สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนพลังงานทางเลือก กิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) และกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) สอดคล้องกับนโยบายการเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค
นอกจากนี้ยังมีกิจการที่สอดคล้องกับนโยบายการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร เช่น น้ำมันปาล์มดิบ เชื้อเพลิงอัดแท่ง การผลิตถุงมือจากยางธรรมชาติ เป็นต้น รวมทั้งกิจการด้านระบบโลจิสติกส์ เช่น กิจการขนส่งทางเรือ เป็นต้น
“กิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลและบีโอไอคาดหวังที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง” นางหิรัญญา กล่าว
นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดการบูรณาการด้านข้อมูลการลงทุนอย่างแท้จริง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดบีโอไอ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการข้อมูลด้านการลงทุน เพื่อทำหน้าที่รวบรวม เชื่อมโยง และวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะปัจจัยด้านแรงงานทั้งในระดับมหภาคและรายสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญ และผลของการส่งเสริมการลงทุนที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบาย และวางแผนดำเนินการส่งเสริม การลงทุน รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับคณะอนุกรรมการฯ จะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและเศรษฐกิจ จำนวน 18 คน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น