กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
เมื่อปีที่แล้ว คนทำงานในแวดวงไอทีคงได้ยินประกาศจากไมโครซอฟท์ถึงการที่ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 จะสิ้นสุดระยะเวลาการสนับสนุนลงในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 หรือในอีกร้อยกว่าวันเท่านั้นนับจากนี้
แต่ในทางกลับกัน องค์กรต่างๆ ทั่วโลกกลับยังใช้งานโอเอสเก่าแก่ตัวนี้กับเซิร์ฟเวอร์ถึง 11.9 ล้านเครื่อง และถ้านับรวมระบบเซิร์ฟเวอร์เสมือนที่ทำงานอยู่ด้วยกันบนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ยอดการใช้งานวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์2003 อาจจะสูงถึง 23.8 ล้านเครื่อง[1] ส่วนข้อมูลจากสไปซ์เวิร์คส์ เครือข่ายผู้ชำนาญการด้านไอทีจากทั่วโลกที่มีสมาชิกกว่า 5 ล้านคน ระบุว่าในเดือนมิถุนายน 2557 ราว 64.5% ของบริษัทสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงใช้งานวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 อยู่[2]
ทำไมวงการไอทีที่ขึ้นชื่อว่าเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาถึงยังยึดติดกับโอเอสที่มีอายุเกือบจะ 12 ปี?
หลายคนคงมองว่า ถ้าของยังไม่เสีย ก็ไม่ควรจะเปลี่ยน เพราะหลายๆ องค์กรยังคงใช้งานวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์2003 เป็นระบบปฏิบัติการหลักในโครงสร้างระบบไอที รองรับทั้งอีเมลและบริการต่างๆ มากมายที่พนักงานต้องใช้อยู่ทุกวัน
แต่วินโดวส์รุ่นนี้ เป็นโอเอสที่มาจากยุคที่โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ยังไม่มีกล้องถ่ายรูปใช้กันด้วยซ้ำ ลองนึกย้อนกลับไปดูว่า 12 ปีที่แล้ว คุณใช้โทรศัพท์รุ่นอะไรอยู่ แล้วถ้าตอนนี้ คุณต้องกลับไปใช้โทรศัพท์รุ่นนั้นเป็นเครื่องหลักในชีวิตประจำวัน จะลำบากขนาดไหน
เช่นเดียวกัน วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 พัฒนาขึ้นในสภาพแวดล้อมด้านไอทีที่แตกต่างจากโลกของเราในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง โอเอสตัวนี้จึงไม่สามารถรองรับการใช้งานในสภาวะปัจจุบันได้อีกแล้ว
นอกจากเรื่องของความล้าสมัยแล้ว การใช้งานซอฟต์แวร์ที่พ้นระยะการสนับสนุนแล้วยังสร้างความเสี่ยงให้กับองค์กรอีกด้วย เพราะว่าหลังจากวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ จะไม่มีการอัพเดทวินโดวส์รุ่นนี้ให้รองรับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ส่วนช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่อาจตกค้างอยู่ก็จะไม่ได้รับการแก้ไขอีกแล้ว นั่นหมายความว่าระบบเซิร์ฟเวอร์ที่ยังใช้วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 อยู่ อาจจะต้องเจอกับปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบ หรือตกเป็นเป้าให้อาชญากรไซเบอร์จู่โจมได้
ในเมื่อมีปัญหามากขนาดนี้ บรรดากฎข้อบังคับหรือมาตรฐานทางอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นมาตรฐาน PCI Data Security สำหรับการใช้งานบัตรเครดิต หรือมาตรฐาน HIPAA ในวงการสาธารณสุข ย่อมไม่รับรองระบบเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้งานโอเอสตกรุ่นแบบนี้ และองค์กรที่ยังยืนยันจะใช้งานซอฟต์แวร์เก่าต่อไปอาจจะต้องสูญเสียความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าหรือเครือข่ายพันธมิตร เพราะคงไม่มีองค์กรไหนที่อยากแบกรับความเสี่ยงทั้งหมดนี้ไว้โดยไม่จำเป็น
ยิ่งไม่ขยับ ยิ่งล้าสมัย
จริงอยู่ที่การใช้งานวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 ต่อไป จะช่วยคุณประหยัดค่าใช้จ่ายในการอัพเกรด แต่การประหยัดงบแบบนี้ไม่คุ้มค่าเลยเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ตามมา ในทางกลับกัน ผมเชื่อว่าผู้บริหารระดับ CIO ทุกท่านควรจะใช้โอกาสนี้ในการลงทุนอัพเกรดระบบไอทีขององค์กรให้ทันสมัย พร้อมรับมือกับความต้องการของผู้ใช้ในโลกยุค “mobile-first, cloud-first”
แต่จากการพูดคุยเพื่อนร่วมสาขาอาชีพในหลายๆ ประเทศ พบว่าผู้บริหารหลายท่านยังประเมินความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา ภายหลังจากการสิ้นสุดการสนับสนุนระบบวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 ไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก
โดยปกติแล้ว การประเมินความเสี่ยงด้านไอทีจะใช้ต้องพิจารณาทั้งภัยอันตราย จุดอ่อนของระบบ และผลกระทบที่อาจเกิดต่อสินทรัพย์ขององค์กร
ซึ่งเรื่องหลังสุดนี้สำคัญมาก เพราะวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 เป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้งานกับเซิร์ฟเวอร์ ปัญหาที่เกิดจากโอเอสตัวนี้จึงมีผลกระทบที่กว้างขวางกว่าในกรณีของวินโดวส์ เอ็กซ์พี ซึ่งใช้งานกับคอมพิวเตอร์ทั่วไปเท่านั้น และแน่นอนว่าจุดอ่อนของระบบจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อไมโครซอฟท์ยุติการสนับสนุนลง
นอกจากเรื่องของการประเมินความเสี่ยงแล้ว บางองค์กรยังประเมินระยะเวลาที่ใช้ในการอัพเกรดระบบไว้สั้นเกินไป โดยส่วนใหญ่แล้ว การถ่ายโอนระบบทั้งองค์กรไปใช้โอเอสตัวใหม่จะใช้เวลาราว 200-300 วัน ซึ่งหมายความว่าองค์กรที่ยังไม่เริ่มเดินหน้าอัพเกรดระบบในวันนี้ มีโอกาสสูงมากที่จะเปลี่ยนโอเอสไม่ทันวันยุติการสนับสนุน
เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ผมแนะนำให้ทุกองค์กรเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างระบบไอทีด้วยกลยุทธ์ระยะยาว โดยเริ่มต้นก้าวแรกด้วยการอัพเกรดไปใช้งานโอเอสที่ทันสมัยกว่าวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 นอกจากการอัพเกรดจะสามารถกำจัดสารพัดปัจจัยเสี่ยงให้หมดไปแล้ว องค์กรของคุณยังจะได้เสริมศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป และเปิดรับเทคโนโลยีระดับ “เมกะเทรนด์” อย่างคลาวด์ โมบาย บิ๊ก ดาต้า หรือโซเชียล มีเดีย ได้อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย