กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--เอเอสวี อินเตอรื กรุ๊ป
สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเร่งให้คำแนะนำขั้นตอนคืนทรัพย์สิน และที่ดินทำกินให้เกษตรกรหลังเสร็จสิ้นการชำระหนี้ปิดบัญชี ภายใต้โครงการ “คืนความสุขให้เกษตรกรไทยฯ” เผยดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรสมาชิกทั่วประเทศแล้วเกือบ 3 หมื่นราย ใช้งบประมาณ 5,700 ลบ. รักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรได้ถึง 140,000 ไร่
นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยถึง “ โครงการคืนความสุขให้เกษตรกรไทย คืนที่ดินทำกินให้สมาชิกกองทุนฯ” ว่า “ จากผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 ที่ระบุถึงการคืน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ให้กระทำได้เมื่อชำระราคาเสร็จสิ้นตามที่กำหนดในสัญญา และทางกองทุนฟื้นฟูฯ ได้จัดการบริหารหนี้ของเกษตรกรจากเจ้าหนี้ ซึ่งปัจจุบันกองทุนดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินแทนเกษตรกรแล้วจำนวนทั้งสิ้น 28,467 ราย 5,795,621,194 บาท รักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้เกษตรกรได้มากกว่า 140,000 ไร่
โดยเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ได้รับการชำระหนี้แทนจากกองทุนฯ ได้ชำระหนี้ปิดบัญชีเสร็จสิ้นตามสัญญาและขอไถ่ถอนหลักประกันคืนมีจำนวนประมาณ 650 ราย จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีจำนวน 550 รายที่ได้สิทธิ์ตามระเบียบและสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดไว้ และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและสาธารณชนทราบว่า กองทุนฯ ได้เริ่มทยอยคืนหลักประกันให้เกษตรกรภายใต้หลักเกณฑ์และขั้นตอนที่สำนักงานกำหนดไว้แล้ว สำนักงานกองทุนฯ จึงได้จัดทำโครงการคืนความสุขให้เกษตรกรไทย คืนที่ดินทำกินให้สมาชิกกองทุนฯ” นายวัชระพันธุ์ กล่าว
สำหรับโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อแจ้งให้เกษตรกรสมาชิกที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาทราบถึงขั้นตอนวิธีการขอไถ่ถอนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันและได้รับหลักประกันคืนจากกองทุนและเพื่อประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับทราบการคืนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันให้เกษตรกรสมาชิกที่ได้ชำระหนี้คืนกองทุนฯ เสร็จสิ้นตามสัญญาแล้วตลอดจนเพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรสมาชิกที่ได้รับการชำระหนี้แทนจากกองทุนฯ มีความรับผิดชอบต่อการชำระหนี้คืนกองทุนฯ ให้เสร็จสิ้นตามสัญญาและประเด็นที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ สำนักงานมีความภาคภูมิใจที่สามารถรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกร ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีอายุมากกว่า 100 ปี ส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานรักษาไว้เป็นมรดกสืบต่อไปซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้กองทุนมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสาธารณชนที่ได้รับทราบการคืนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันให้เกษตรกรสมาชิกที่ได้ชำระหนี้คืนกองทุนฯ” นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร กล่าว
ดังนั้น เกษตรกรที่ประสงค์จะขอรับหลักประกันคืนจากกองทุนให้ไปติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาขาจังหวัดที่เกษตรกรเป็นสมาชิกได้ทุกวันทำการ