กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--กรมประมง
กรมประมง...เตรียมประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน รวมระยะเวลา 3 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้ขยายพันธุ์ อธิบดีประมง เผย ปี 57 สัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้นกว่า 7 เท่า ...ปีนี้ ฝากขอความร่วมมือชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีการบูรณาการตรวจร่วมศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เตือน ! หากพบผู้กระทำผิดจับกุมทันทีไม่มีการละเว้น
ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า “ปิดอ่าวทะเลอันดามัน” เป็นมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก ฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้วางไข่ ขยายพันธุ์เจริญเติบโตใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และทำประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 30 ปี มีการแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของชาวประมง โดยประกาศฉบับปัจจุบันที่ใช้ คือ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ซึ่งมีการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วน ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 4, 696 ตารางกิโลเมตร ใน 4 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ภายในระยะเวลาระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน ของทุกปี
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ผลจากการสำรวจสภาวะทรัพยากรบริเวณเขตปิดอ่าวฯ ด้วยเรือสำรวจประมง พบว่า ในช่วงระหว่างมาตรการฯ มีอัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยสูงถึง 699.13 กก./ชม. ซึ่งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น 1.4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 ที่มีอัตราการจับเฉลี่ย 497.99 กก./ชม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งทำการประมงที่สำคัญพื้นที่บริเวณระหว่างเกาะพีพีและเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พบว่า ช่วงก่อนมาตรการ และช่วงสิ้นสุดมาตรการ มีอัตราการจับเฉลี่ย 62.04 และ 456.90 กก/ชม. ตามลำดับ จึงเห็นได้ว่าช่วงสิ้นสุดมาตรการมีอัตราการจับเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนมาตรการถึง 7.36 เท่า
นอกจากนี้ บริเวณที่ทรัพยากรเสื่อมโทรมเนื่องจากมีการทำประมงที่มากเกินสมดุลของธรรมชาติที่จะผลิตทดแทนได้ทัน (Over fishing) รวมทั้งปลาผิวน้ำและปลาหน้าดินที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิดที่เคยหายไป กลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ดังนั้น จึงสามารถยืนยันได้ว่ามาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน สามารถรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำที่กำลังมีไข่ และเข้ามาวางไข่เลี้ยงลูก ให้เพิ่มปริมาณขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศ ได้อย่างแน่นอน
สำหรับ มาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2558 นี้ เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ซึ่งประกอบด้วย 6 หน่วยงาน คือ กรมประมง กองทัพเรือ (ทัพเรือภาคที่ 3) กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมศุลกากร ในการตรวจตราเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมายโดยเคร่งครัด เข้มงวดกวดขันไม่มีการผ่อนผันแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังการทำประมงต่างๆ อาทิ ประมงอาสา ฅนเฝ้าทะเล ยุวประมง ฯลฯ ในการช่วยเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแลการทำประมงที่ผิดกฎหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผลพวงของความสำเร็จจากการปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความตระหนักรักและหวงแหนในทรัพยากรพื้นถิ่นของตน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้พี่น้องชาวประมงได้ทราบถึงกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการปิดอ่าวฯ ในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด มีรายละเอียด ดังนี้
ระยะเวลาที่ห้าม (ฤดูปลามีไข่) ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน ของทุกปี
เครื่องมือทำการประมงต้องห้ามตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่
(1) เครื่องมืออวนลากทุกประเภททุกขนาดที่ใช้ประกอบเรือกล
(2) เครื่องมืออวนประเภทล้อมจับทุกชนิด
(3) เครื่องมืออวนติดตาที่มีช่องตาเล็กกว่า 4.7 ซม.
เครื่องมือที่ยกเว้นให้ทำการประมงได้ตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่
(1) เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตักทำการประมงเฉพาะในเวลากลางวัน
ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก
(2) เครื่องมืออวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบกับเรือกล (เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเข้มีคานถ่าง หรือ อวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกล ซึ่งใช้เชือกเส้นใยประดิษฐ์เป็นสายลาก) เฉพาะในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น
(3) เครื่องมืออวนโป๊ะ
บทกำหนดโทษ หากมีชาวประมงรายใดฝ่าฝืนใช้เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในพื้นที่ที่ได้ประกาศปิดอ่าวฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ห้าพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ
โดยพิธีประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน จัดให้มีขึ้นในวันอังคารที่ 31 มีนาคมนี้ ณ ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลฝั่งอันดามัน กระบี่ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมพิธีปิดอ่าวฯ ในครั้งนี้ และขอให้พี่น้องชาวประมง โปรดให้ความร่วมมือกับทางราชการ งดทำการประมงด้วยเครื่องมือดังที่กล่าวข้างต้น ในพื้นที่ที่กำหนด เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน นี้ โดยฝากคำขวัญปิดอ่าวไว้สั้นๆ ว่า “งดจับปลาฤดูมีไข่ อนุรักษ์ไว้ใช้อย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมประมง..กล่าว