กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--Mind PR
อัลไลด์ เทเลซิส ยักษ์ใหญ่ระบบเครือข่ายจากญี่ปุ่น เผยทิศทางการรุกตลาดปี 58 ในไทย ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านระบบรักษาความปลอดภัย เน็กซ์ เจนเนอเรชั่น ไฟร์วอลล์และระบบเครือข่ายไร้สายยุคที่ 4 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งระบบเครือข่ายให้ครบวงจร คาดยอดขายโต 30%
นายธีรยุทธ หงษ์คณานุเคราะห์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อัลไลด์ เทเลซิส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์เครือข่ายจากประเทศญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีระบบการเชื่อมต่อและระบบเครือข่ายอีเทอร์เน็ต/ไอพี เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจของอัลไลด์ เทเลซิสปี 2558 ในประเทศไทย ว่า ในปีนี้ อัลไลด์ เทเลซิส จะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ด้าน เน็กซ์ เจนเนอเรชั่น ไฟร์วอลล์ ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยด้านไฟร์วอลล์ยุคที่ 3 และผลิตภัณฑ์ระบบเครือข่ายไร้สายยุคที่ 4 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับโซลูชั่นระบบเครือข่ายให้ครบวงจรและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับ เน็กซ์ เจนเนอเรชั่น ไฟร์วอลล์ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กร เนื่องจากเป็นการยกระดับการป้องกันภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอก ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการปรับใช้ทรัพยากรเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อรองรับการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ต ในยุค ของ อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things) และ การให้บริการแอพพลิเคชั่น (Applications as a Service)
นายธีรยุทธ กล่าวว่า “จากนโยบายการเชื่อมต่อเครือข่ายที่ยืดหยุ่นขององค์กรต่างๆ และจำนวนภัยคุกคามหลากหลายที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการด้านเทคโนโลยีป้องกันเครือข่ายที่ทันสมัยและใหม่กว่าเดิม แนวโน้มของการโจมตีระบบที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานและการเสื่อมเสียชื่อเสียงขององค์กร และการรักษาความปลอดภัยกลายเป็นสิ่งที่มีลำดับความสำคัญสูงสำหรับฝ่ายบริหาร เทคโนโลยี ดังนั้น เน็กซ์ เจนเนอเรชั่น ไฟร์วอลล์ที่ผสานรวมขีดความสามารถด้านการควบคุมแอพพลิเคชันต่างๆ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในตลาดการรักษาความปลอดภัยด้วยเช่นกัน”
สำหรับระบบเครือข่ายไร้สายยุคที่ 4 ของอัลไลด์ เทเลซิส มีความโดดเด่นในเรื่อง เทคโนโลยี แชนนัล แบลงเก็ต (Channel Blanket™) ที่ไม่มีใครเทียบได้ รองรับการรับส่งข้อมูลในปริมาณมาก และการทำงานในรูปแบบการเคลื่อนที่ได้อย่างราบรื่น ไร้สัญญาณรบกวน รวมทั้งสามารถติดตั้งและบำรุงรักษาได้ง่ายกว่า เหมาะสำหรับพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่และมีจำนวนคนมาก อาทิ สนามกีฬา หอประชุม คลังสินค้า โลจิสติกส์ โรงงานผลิตระดับอุตสาหกรรม โรงเรียน และโรงพยาบาล
ทั้งสองผลิตภัณฑ์ ยังมาพร้อมด้วย เทคโนโลยีเอเอ็มเอฟ (AMF - Allied Telesis Management Framework) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของอัลไลด์ เทเลซิส ที่ช่วยในการบริหารจัดการะบบเครือข่ายให้ง่ายขึ้น เมื่อผลิตภัณฑ์ในระบบเครือข่ายเกิดปัญหา สามารถนำผลิตภัณฑ์ใหม่มาติดตั้งทดแทนและสามารถทำงานได้ทันทีอย่างอัตโนมัติ
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องของบริการหลังการขาย โดยให้การรับประกัน 5 ปีในผลิตภัณฑ์ทุกรุ่นจากเดินที่รับประกันเพียงบางรุ่นเท่านั้น พร้อมทั้งแต่งตั้งเซอร์วิส พาร์ทเนอร์
คือ บริษัท ซินเนอร์ยี่ ออฟ เซอร์วิสส์ (SOS) เพื่อดูแลเรื่องการบริการได้โดยตรงในเรื่องของการซ่อมบำรุงและเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค
สำหรับแนวโน้มของตลาดระบบเครือข่ายนั้น นายธีรยุทธ กล่าว่า ตลาดระบบเครือข่ายที่รองรับกล้องวงจรปิดแบบไอพี (IP Surveillance) ยังเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการในการใช้กล้องวงจรปิดที่มีประสิทธิภาพสูงยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งราชการและเอกชน นอกจากนั้นในกลุ่มระบบขนส่งมวลชนจะเป็นตลาดที่เติบโตต่อไปอีก 5-10 ปี เพราะมีความต้องการระบบเครือข่ายอย่างครบวงจรและสามารถรองรับปริมาณข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของอัลไลด์ เทเลซิส ในปี 2558 จะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มขนส่ง กลุ่มราชการ กลุ่มการศึกษา และกลุ่มโรงพยาบาล
นายธีรยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน อัลไลด์ เทเลซิส มีส่วนแบ่งการตลาดในส่วนของสวิตซ์เป็นอันดับ 3 ในประเทศไทย และตั้งเป้ายอดขายเติบโตในปี 2558 ประมาณ 30% โดยคาดว่าภาพรวมตลาดระบบเครือข่ายในไทยน่าจะมีอัตราเติบโตประมาณ 10 % และมีมูลค่าประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7,500 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทฯ จำหน่ายผ่านดิสตริบิวเตอร์ 2 ราย ได้แก่ บริษัท เอแวนท์กาด จำกัด และบริษัท ไนน์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด
ทั้งนี้บริษัท อัลไลด์ เทเลซิส เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดด้านระบบเครือข่ายของโลก ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2530 มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นและมีศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจายอยู่ทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ อิตาลี สิงคโปร์ และจีน ทั้งนี้มีส่วนแบ่งตลาดติดอันดับ 1 ใน 5 ผู้นำด้านระบบเครือข่ายของโลก มียอดรายได้รวมทั่วโลกในปี 2557 ประมาณ 30.2 พันล้านเยน