กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยแนวคิด Co-Design ดึง 3 นักออกแบบระดับแนวหน้า 3 ประเทศ ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ร่วมสร้างสรรค์งานแฟชั่นมุสลิม ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 3 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักปลัดงานกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้ายกระดับขีดความสามารถจากชุมชนสู่เวทีอาเซียน ในคอนเซ็ปต์ สวย ดี มีคุณภาพ สู่สากล
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยถึงการต่อยอดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 3 ว่า จากผลสำเร็จของโครงการในระยะที่ 1-2 มีทิศทางการออกแบบเน้นดึงจุดเด่นจากอัตลักษณ์ท้องถิ่นออกมาเป็นแนวคิดในการดีไซน์ จากดอกไม้พื้นถิ่นจึงกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายใต้แบรนด์ LAWA@THTI พร้อมนำออกแสดงและจำหน่ายในงาน Thailand Week ณ ประเทศสิงคโปร์ จนสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี
สำหรับปี 2558 ทางสถาบันฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้ประกอบการสิ่งทอ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมยกระดับการพัฒนาแฟชั่นมุสลิมในคอนเซ็ปต์ สวย ดี มีคุณภาพ สู่สากล ภายใต้แนวคิด "Co-Design" หลอมรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยดึง 3 นักออกแบบชื่อดังจาก 3 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน คือ
1. นักออกแบบจากประเทศไทย นายวชิรวิชญ์ อัครสันติสุข ที่ถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าทีมสร้างสรรค์แฟชั่นมุสลิมแบรนด์ LAWA@THTI คอลเล็กชั่นใหม่ และยังเป็นนักออกแบบคนไทยระดับแนวหน้าที่ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมจากเวทีประกวดแฟชั่นระดับโลก MANGO Fashion Awards ณ ประเทศสเปน ปี 2012 จนสามารถสร้างการยอมรับในระดับนานาชาติ
2. นักออกแบบจากประเทศมาเลเซีย Mr.Eric Choong หนึ่งในสิบสุดยอดดีไซน์เนอร์ชื่อดังจากประเทศมาเลเซีย มีจุดเด่นด้านการดีไซน์เสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยสีสัน ลูกเล่น และผสานอย่างลงตัวกับการตัดเย็บที่ยังคงใช้เทคนิคแบบดั้งเดิม
3. Mr.Oka Diputra อีกหนึ่งดีไซเนอร์ที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดย Oka เป็นสุดยอดดีไซน์เนอร์จากประเทศอินโดนีเซีย มีความชำนาญในการนำผ้าพื้นเมืองของบาหลี นั่นคือ ผ้าบาติก โดยนำมาประยุกต์ใช้กับผ้าพื้นเมืองของประเทศต่างๆ ในอาเซียน มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือ การออกแบบเสื้อผ้าที่มีลูกเล่นมากมาย เน้นการสวมใสได้หลายรูปแบบ
ซึ่งทั้งสามดีไซน์เนอร์จะร่วมกันสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายมุสลิมทั้งบุรุษและสตรีรวมกัน 3 คอลเล็กชั่น จำนวน 30 ชุด ไว้เป็นต้นแบบเพื่อใช้ถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการใน 5 จังหวัดภาคใต้ชายแดนให้มีศักยภาพในการก้าวสู่ตลาดอาเซียนต่อไป
"สิ่งสำคัญที่มุ่งเน้นคือการออกแบบที่มีการผสมกลมกลืนระหว่างแนวคิดการออกแบบกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียน พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สัมผัสกับนักออกแบบนานาชาติ สามารถเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ด้านการทำงานและการออกแบบนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น" นางสุทธินีย์กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯ ได้ที่สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thti.org , www.thaitextile.org/muslim