กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--กรมประมง
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาและให้นโยบายการขับเคลื่อนเพื่อการเชื่อมโยงภาคการผลิตและการตลาดปลาสวยงามระดับประเทศ โดยภายในงานดังกล่าวได้มีการลงนาม MOU ระหว่างกรมประมงกับผู้ประกอบการปลาสวยงามในเรื่องของการเชื่อมโยงข้อมูลภาคการผลิตและการตลาดปลาสวยงามระดับประเทศ
ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตปลาสวยงามที่สำคัญและมีการผลิตมายาวนานกว่า 50 ปี โดยมีแหล่งผลิตกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของประเทศคือจังหวัดราชบุรี นครปฐม กรุงเทพมหานคร
ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ผลิตที่มีมากกว่า 2,000 ราย ผู้ส่งออกปลาสวยงามมีมากกว่า 100 ราย ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้านการค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงในโลกสังคมออนไลน์ ประกอบด้วย สมาคม/สหกรณ์/ชมรมต่างๆ ประมาณ 50 หน่วย ความหลากหลายของสินค้าปลาสวยงามของไทยที่มีมากกว่า 300 ชนิด ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการยุทธศาสตร์ปลาสวยงามนับตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน ซึ่งทางกรมประมงก็ได้เดินหน้าพัฒนาวงการปลาสวยงามให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ฯ มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตปลาสวยงามที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญในการมุ่งเน้นการปรับปรุงและการบริหารจัดการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมโดยเริ่มให้ความสำคัญตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ
และการพัฒนาศักยภาพการผลิตให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถประกอบอาชีพได้ยั่งยืนครบตามวงจรธุรกิจปลาสวยงาม ซึ่งนอกจากประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตปลาสวยงามที่ได้รับการยอมรับแล้วนั้น จุดเด่นของปลาสวยงามของไทยก็คือ ความหลากหลายของสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพด้านสีสันที่สดใสความแข็งแรงของตัวสัตว์น้ำ ฯลฯ ซึ่งนั่นก็เกิดมาจากทักษะความสามารถในการเพาะเลี้ยงและผสมพันธุ์ปลาของเกษตรกรไทยนั่นเอง ด้วยจุดแข็งนี้ ปลาสวยงามของไทยจึงกลายเป็นอีกธุรกิจที่สามารถดึงดูดเงินตราเข้า
สู่ประเทศได้เป็นอย่างดี
สำหรับปลาสวยงามปัจจุบันมีผู้สนใจหลายท่านหันมาเลือกประกอบธุรกิจนี้กันมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้โดยตรงและรายได้เสริมจากธุรกิจปลาสวยงาม และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ตลาดปลาสวยงามของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การรวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น รวมถึงแนวทางในการช่วยผลักดันให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้ามาสู่วงจรธุรกิจปลาสวยงามได้อย่างเต็มตัวนั้น นอกจากการผลิตที่จะต้องมีประสิทธิภาพและจะต้องมีการพัฒนาอย่างตื่นตัวอยู่เสมอ การตลาดก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะเข้ามารองรับในเรื่องของการกระจายสินค้าสู่ตลาดเป้าหมายอันจะนำมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการสร้างอำนาจในการต่อรองให้กับสินค้าและบริการ ดังนั้นการจัดสัมมนาในวันนี้ จึงถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตให้กับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงภาคการผลิตและภาคการตลาดให้มีความเข็มแข็งมากยิ่งขึ้น
นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ เพื่อรองรับภาคการผลิตและเชื่อมโยงภาคการตลาดส่งออกปลาสวยงามระดับประเทศให้กับผู้ประกอบการ โดยในวันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่กรมประมงได้มาร่วมลงนาม MOU กับผู้ประกอบการปลาสวยงาม ได้แก่ ตลาดฟิชวิลเลจ/ บริษัท ไทยเฉียนหวู่ จำกัด/ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด /สหกรณ์
ปลาสวยงามแห่งสยาม ในการบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับการเชื่อมโยงของภาคการผลิตและการตลาดปลาสวยงามระดับประเทศ เพื่อช่วยกันดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าปลาสวยงามที่มีคุณภาพของโลกภายในปี พ.ศ. 2559 ต่อไปภายภาคหน้าตลาดปลาสวยงามในประเทศจะมีความเข้มแข็ง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจัดงานในวันนี้จะแบ่งกิจกรรมเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 จะเป็นการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับภาคการผลิต ความพร้อมการดำเนินการเกี่ยวกับระบบโลจิสติกค์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านของคุณภาพสินค้าประมงที่ออกสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ส่วนที่ 2 จะเป็นการสัมมนาเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและการตลาดโดยในช่วงเช้าจะเป็นการสัมมนาในเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตปลาสวยงาม สถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มทางด้านการตลาดส่งออกปลาสวยงามของโลก ช่วงบ่ายจะเป็นการสัมมนาแนะนำช่องทางการตลาดที่กำลังมาแรงในขณะนี้นั่นคือการสร้างมูลค่าการขายสินค้าทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์เพื่อการผ่านระบบ e-commerce โดยมีวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ ในการกระจายสินค้าสู่ทั่วโลกมาบรรยายใหกับผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทราบกัน
สุดท้ายนี้ ต้องขอบคุณท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เข้าร่วมการเสวนาทุกท่าน รวมทั้งผู้เข้าร่วมการสัมมนาที่มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อให้ธุรกิจปลาสวยงามของไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการบูรณการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน