CAC ระดมพลังภาคเอกชนกว่า 440 บริษัทมุ่งขจัดคอร์รัปชันเชิงระบบ

ข่าวทั่วไป Friday March 27, 2015 17:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--Thai Institute of Directors Association ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่าในการสัมมนาระดมความคิดเห็นจากองค์กรเอกชนกว่า 440 บริษัทที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับCAC บริษัทสมาชิกที่ได้การรับรองจาก CAC มีเป้าหมายที่จะขยายแนวปฏิบัติในการต่อต้านทุจริตไปสู่บริษัทธุรกิจที่อยู่ในสายโซ่การผลิตของบริษัทตนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยขยายเครือข่ายธุรกิจสะอาดให้ครอบคลุมอย่างครบวงจรในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น และจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ภาคเอกชนจะสามารถช่วยขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเชิงระบบที่อยู่ในประเทศไทย CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ ในปัจจุบัน มีจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC แล้ว 449 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียน 250 บริษัท) และมี 96 บริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด ดร. บัณฑิต กล่าวว่า ผู้บริหารบริษัทสมาชิก CAC ที่เข้าร่วมการสัมมนาในวันนี้ได้เสนอแนวทางมากมายที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งส่วนใหญ่ได้ระบุถึงการจัดการปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ โดยแนวทางหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมาคือการส่งเสริมให้บริษัทคู่ค้ามีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตที่ชัดเจน โดยอาจใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาทำธุรกิจกับบริษัทคู่ค้า ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะช่วยขยายเครือข่ายธุรกิจสะอาดที่มีแนวนโยบายชัดเจนในการไม่รับ-ไม่จ่ายสินบนให้ขยายไปสู่กิจการและอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น “การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันคงไม่สามารถทำได้โดยลำพังเพียงบริษัทเดียวหรือสองสามบริษัท แต่ต้องรวมเป็นพลังของบริษัทที่ได้รับผลเสียจากคอร์รัปชันเข้าร่วมแก้ไขปัญหา ช่วยทลายตั้งแต่กำแพงความคิดที่ว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ไปจนถึงการแสดงออกให้ชัดเจนว่าคนไทยทุกคนบริษัทไทยทุกแห่งประกาศต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบเป็นนโยบายที่ชัดเจน” ดร. พนัส สิมะเสถียร ประธาน CAC กล่าวในปาฐกถาพิเศษ “ภาคเอกชนคือความหวังและทางออกจากปัญหาคอร์รัปชัน” ดร. พนัส กล่าวว่า วงจรคอร์รัปชันเชิงระบบได้ก่อให้เกิดลักษณะที่พาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ทางแห่งความเสื่อม 3 ประการ หนึ่งคือการสร้างสนามแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม ด้วยการเปิดโอกาสให้มีการผูกขาดหรือมีการทำธุรกิจระหว่างหน่วยงานรัฐกับเอกชนในรูปแบบที่มีการสมยอม หรือ “ฮั้ว” เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กันในกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเป็นการเฉพาะแต่ผลักภาระความรับผิดชอบไปให้สังคมส่วนรวม ประการที่สอง คือการทำลายบรรยากาศการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพราะผู้ประกอบการบางรายยินดีที่จะจ่ายเงินผ่านกลไกคอร์รัปชันในระบบราชการ เพื่อความรวดเร็วและความปลอดภัยในการลงทุนหรือในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ แทนที่จะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ส่วนประการสุดท้าย คอร์รัปชันเชิงระบบยังเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และทำให้การประกอบธุรกิจในประเทศอยู่บนวิถีที่ไม่ยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคต่างๆ อย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดร. บัณฑิต กล่าวว่า นอกเหนือจากการรณรงค์เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจสะอาดแล้ว ทาง CAC ก็ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องมือซึ่งจะเป็นช่องทางให้สมาชิกของ CAC และบริษัทธุรกิจสามารถแจ้งเบาะแสการเรียกรับสินบนในการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ โดย CAC จะประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงหน่วยงานทางการให้รับทราบเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาตามที่ได้มีการแจ้งมา และในอีกด้านหนึ่ง โครงการ CAC ได้เปิดให้บริการเว็บไซต์ www.thai-cac.com เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางข้อมูลของโครงการ CAC และช่องทางติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นระหว่างสมาชิกโครงการเพื่อนำไปสู่การวางนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตของบริษัทเอกชนที่มีประสิทธิภาพ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CAC และรายชื่อของบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ และผ่านการรับรองได้จาก: , www.thai-cac.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ