กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--Brainasia Communication
คณะวิศวลาดกระบัง เดินหน้าปฏิรูปวิศวกรรมศาสตร์ จัดสัมมนา"การใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนแบบ Active Learning อย่างมีประสิทธิภาพ"โดยผู้เชี่ยวชาญจากนอร์เวย์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าปฏิรูปการเรียนการสอนของวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อสร้างวิศวกรผู้นำในยุคศตวรรษที่ 21 ได้จัดโครงการอบรมการเรียนการสอนแบบ Active Learning ในหัวข้อเรื่อง "การใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนแบบ Active Learning อย่างมีประสิทธิภาพ" เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เทคโนโลยี และการเรียนรู้ของนักศึกษา จากผู้สอนคือผู้ถ่ายทอด ปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ชี้แนะวิธีการค้นคว้าหาความรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถแสวงหาความรู้และประยุกต์ใช้ทักษะต่างๆสร้างความเข้าใจด้วยตนเอง จนเกิดเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมายและมีประสิทธิผลสูงขึ้น
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า "การเรียนการสอน ในอดีตเน้นการจดจำ การฟังและการมองเห็นภาพ แต่ในศตวรรษที่ 21 ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ศาสตร์เกี่ยวกับการเรียนรู้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การสื่อสารไร้พรมแดน การเข้าถึงแหล่งข้อมูลสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาส่งผลให้ผู้เรียนจำเป็นจะต้องมีความสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ขณะนี้ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ได้เข้าสู่การดำเนินงานปฏิรูประบบการศึกษาจากแบบเดิมที่เน้นการถ่ายทอดความรู้จากผู้สอนสู่ผู้เรียนโดยตรง มาเป็นการให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งการนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning มาปฏิรูปการเรียนการสอนจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยการร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ในการนี้ครูต้องลดบทบาทในการสอนและการให้ข้อความรู้แก่ผู้เรียนโดยตรงลง แต่ไปเพิ่มกระบวนการและกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการจะทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น
และผู้ที่จะก่อให้เกิดสภาวะ Active Learning นี้ได้คือ ครูผู้สอนที่จะต้องมีศักยภาพด้าน Active Teaching ก่อน ในฐานะครูผู้สอน ซึ่งต้องรับผิดชอบ โดยตรงต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนนั้น จะต้องคำนึงถึงก็คือทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome Base) พึงประสงค์และครบถ้วนตามที่สังคมยุคปฏิรูปการศึกษาได้มุ่งหวังไว้ ไม่ใช่สอนเพื่อเด็กเรียนรู้เพียงเพื่อจำเอามาตอบเราได้หรือเพื่อสอบเท่านั้น แต่ต้องนำไปต่อยอดได้ด้วย”
ศาสตราจารย์ โอลาฟ ฮัลเลน กราเวน (Prof. Olaf Hallan Graven) หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากมหาวิทยาลัยบุสเคอรัด แอนด์ เวสต์โฟลด์ (HBV) ประเทศนอร์เวย์ ผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีประสบการณ์ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมากว่า 20 ปี กล่าวว่า “ รูปแบบของ Active Learning การจัดการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งสามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับ ทั้งการเรียนรู้เป็นรายบุคคล, การเรียนรู้แบบกลุ่มเล็ก, และการเรียนรู้แบบกลุ่มใหญ่ โดยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
1. การเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนคิดเกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดคนเดียว 2-3 นาที (Think) จากนั้นให้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนอีกคน 3-5 นาที (Pair) และนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด (Share)
2. การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning group) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยจัดกลุ่มๆ ละ 3-6 คน
3. การเรียนรู้แบบทบทวนโดยผู้เรียน (Student-led review sessions) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้และพิจารณาข้อสงสัยต่าง ๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ โดยครูจะคอยช่วยเหลือกรณีที่มีปัญหา
4. การเรียนรู้แบบใช้เกม (Games) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนนำเกมเข้าบูรณาการในการเรียนการสอน ซึ่งใช้ได้ทั้งในขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน, การสอน, การมอบหมายงาน, และหรือขั้นการประเมินผล โดยในการเรียนการสอนดังกล่าว ผู้สอนสามารถสอดแทรกความรู้ในรูปแบบของขุมทรัพย์ที่ผู้เรียนจะต้องสืบหา และการประเมินผลโดยใช้ผู้เรียนด้วยกันเองเป็นทั้งผู้ให้โจทย์ และผู้ตอบโจทย์ เพื่อสร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และได้ความรู้ในขณะเดียวกัน
5. การเรียนรู้แบบวิเคราะห์วีดีโอ (Analysis or reactions to videos) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ดูวีดีโอ 5-20 นาที แล้วให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น หรือสะท้อนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ดู อาจโดยวิธีการพูดโต้ตอบกัน การเขียน หรือ การร่วมกันสรุปเป็นรายกลุ่ม
6. การเรียนรู้แบบโต้วาที (Student debates) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อยืนยันแนวคิดของตนเองหรือกลุ่ม
7. การเรียนรู้แบบผู้เรียนสร้างแบบทดสอบ (Student generated exam questions) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างแบบทดสอบจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว
8. การเรียนรู้แบบกระบวนการวิจัย (Mini-research proposals or project) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่อิงกระบวนการวิจัย โดยให้ผู้เรียนกำหนดหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้, วางแผนการเรียน, เรียนรู้ตามแผน, สรุปความรู้หรือสร้างผลงาน, และสะท้อนความคิดในสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรืออาจเรียกว่าการสอนแบบโครงงาน(project-based learning) หรือ การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน(problem-based learning)
9. การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Analyze case studies) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้อ่านกรณีตัวอย่างที่ต้องการศึกษา จากนั้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือแนวทางแก้ปัญหาภายในกลุ่ม แล้วนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด
10. การเรียนรู้แบบการเขียนบันทึก (Keeping journals or logs) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเห็น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งเสนอความคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกที่เขียน
11. การเรียนรู้แบบการเขียนจดหมายข่าว (Write and produce a newsletter) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนร่วมกันผลิตจดหมายข่าว อันประกอบด้วย บทความ ข้อมูลสารสนเทศ ข่าวสาร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วแจกจ่ายไปยังบุคคลอื่นๆ
12. การเรียนรู้แบบแผนผังความคิด (Concept mapping) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนออกแบบแผนผังความคิด เพื่อนำเสนอความคิดรวบยอด และความเชื่อมโยงกันของกรอบความคิด โดยการใช้เส้นเป็นตัวเชื่อมโยง อาจจัดทำเป็นรายบุคคลหรืองานกลุ่ม แล้วนำเสนอผลงานต่อผู้เรียนอื่นๆ จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคนอื่นได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
การที่จะเกิด Active Learning ได้ผู้สอนต้องลดบทบาทในการสอนและการให้ข้อความรู้แก่ผู้เรียนโดยตรงลง แต่ไปเพิ่มกระบวนการและกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการจะทำกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น และต้องมี Active Teaching ที่ผู้เรียนและผู้สอนจะต้อง "เตรียมตัว" ทั้งสองฝ่ายจึงจะเกิดสภาพที่ Active ขึ้นมาได้”