กรุงเทพ--30 เม.ย.--กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ตามที่นายกอร์ดอน วู (Gordon Wu) ได้กล่าวแถลงโจมตีประเทศไทยเกี่ยวกับการบอกเลิกโครงการโฮปเวลล์ในการประชุมนานาชาติ ซึ่งจัดโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่นครเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน ที่ผ่านมา นั้น
กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐที่ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. (โครงการโฮปเวลล์) กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 แล้วในเรื่องข้อเท็จจริงและจะสั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์นและคณะทูตถาวรฯ ฯ ณ นครเจนีวา ชี้แจงข้อมูลให้ผู้ร่วมการประชุมและสื่อมวลชนในต่างประเทศทราบ ดังนี้
สัญญากำหนดเวลาการก่อสร้างงานระบบขนส่งฯ ให้แล้วเสร็จใน 8 ปี (ธันวาคม 2542) โดยแบ่งเป็น 5 ช่วงงาน โดยเป็นระยะทางรถไฟยกระดับ 60.1 กม. และ ถนนยกระดับ (Tollway) 56.8 กม.
หลังจากดำเนินโครงการมา 6 ปี (2540) การดำเนินงานมีความล่าช้ามาก คู่สัญญาฝ่ายรัฐได้เร่งรัดให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มาโดยตลอด โดยให้ว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่มาร่วมงาน รวมทั้งให้เสนอหลักฐานการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารเพื่อจัดทำและเสนอแผนการเงินและแผนงานก่อสร้างให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐพิจารณา ปรากฎว่าบริษัทฯ ไม่สามารถเสนอแผนงานก่อสร้างที่แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่าจะก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จในเวลาที่กำหนดได้ และไม่สามารถเสนอแผนการเงินที่เชื่อถือได้ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ แต่บริษัทฯ กลับเรียกร้องให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในสัญญาโดยอ้างว่าเป็นความต้องการของธนาคารที่จะให้ความสนับสนุนทางการเงิน
คู่สัญญาฝ่ายรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ดำเนินโครงการได้ค่าช้ามาก แม้รัฐบาลจะพยายามให้ความสนับสนุนแล้วก็ตาม อีกทั้งบริษัทฯ ยังพยายามขอแก้ไขสัญญาที่เบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริงของการเจรจาที่ตกลงกัน โดยไม่มีหลักประกันว่าบริษัท ฯ จะสามารถก่อสร้างได้เสร็จตามกำหนด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อแผนงานการแก้ไขปัญหาจราจรโดยรวมของกทม. และปริมณฑล ครม. จึงลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเลิกสัญญากับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ตามกระบวนการกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (เมื่อคู่สัญญาไม่สามารถปฎิบัติตามสัญญาว่าจ้างได้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งสามารถบอกเลิกสัญญาได้) เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐได้พิจารณาทบทวนที่จะแก้ไขปัญหาการดำเนินการได้อย่างเต็มที่และได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแจ้งไปยังบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541
ในหนังสือบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ คู่สัญญาฝ่ายรัฐสงวนสิทธิจะเรียกค่าเสียหายและขอริบเงินค่าตอบแทนสัญญาและหลักประกันสัญญาฯ ที่บริษัทฯ ได้จ่ายและมอบให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐแล้วทั้งหมดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย (คู่สัญญาฝ่ายรัฐได้ประเมินค่าเสียหายแล้วมีประมาณ 2 แสนล้านบาท)
บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ได้มีหนังสือแจ้งว่า การบอกเลิกสัญญาไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการที่ระบุไว้ในสัญญา คือ ต้องตั้งอนุญาโตตุลาการ แต่คู่สัญญาฝ่ายรัฐยังคงยืนยันให้การบอกเลิกสัญญาเป็นไปตามกระบวนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่จำเป็นต้องตั้งอนุญาโตตุลาการเพราะสัญญาที่สิ้นสุดแล้ว หากบริษัทฯ ไม่ปฎิบัติตามที่แจ้ง คู่สัญญาฝ่ายรัฐจะดำเนินการตามกฎหมาย--จบ--