กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
ก.เกษตรฯ พิจารณาแผนปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ระดับกระทรวง ครั้งที่ 4 จำนวน 3,392 โครงการ งบประมาณ 1,603.192 ล้านบาท พร้อมเน้นย้ำให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกร และโปร่งใสทุกขั้นตอน
นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ระดับกระทรวง ว่า จากการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณโครงการฯ ในครั้งที่ 4 คณะกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับกระทรวง ให้ความเห็นชอบรวม 28 จังหวัด 285 อำเภอ 1,641 ตำบล จำนวน 3,392 โครงการ รวมเป็นงบประมาณ 1,603.192 ล้านบาท แบ่งตามประเภทโครงการ ได้แก่ การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน ประมาณร้อยละ 51.01 อาทิ กิจกรรมกำจัดวัชพืชน้ำคลองส่งน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร กิจกรรมซ่อมแซมและขุดฝังท่อน้ำดิบ กิจกรรมฝายดินเรียงหินยาแนว เป็นต้น การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อการสร้างรายได้ในฤดูแล้งของชุมชน คิดเป็นร้อยละ 7.33 อาทิ ผลิตเห็ดนางฟ้า นางรม ส่งเสริมการประดิษฐ์กระทงจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คิดเป็นร้อยละ 36.86 อาทิ กิจกรรมลานตากข้าวชุมชน กิจกรรมผลิตและขยายศัตรูธรรมชาติเพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว กิจกรรมผลิตปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น และการจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร คิดเป็นร้อยละ 4.8 อาทิ กิจกรรมเพิ่มศักยภาพศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เป็นต้น
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการประชุม Conference เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่ทั้ง 58 จังหวัด เน้นย้ำทุกกิจกรรมให้ถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้ เพื่อให้พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากได้รับประโยชน์โดยตรงและทั่วถึง ซึ่งขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการสร้างรายได้ฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มี.ค. 58) ชุมชนได้จัดทำโครงการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการระดับอำเภอแล้ว 3,039 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 99.61 ผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอพิจารณาผ่านโครงการแล้ว จำนวน 3039 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 99.61 และผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาอนุมัติโครงการในระดับจังหวัดแล้ว 3,023 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 99.08 ซึ่งขณะนี้เสนอของบประมาณสำนักงบประมาณแล้ว ประมาณ 334.100 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณแล้ว 302 ตำบล 501 โครงการ วงเงินงบประมาณ 249.873 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.19
สำหรับขั้นตอนของการเบิกจ่ายเงินในโครงการสร้างรายได้ฯ นั้น จะเป็นไปอย่างรัดกุม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งขั้นตอนการจ่ายเงินจนถึงชุมชนนั้นจะผ่านระบบบัญชีเงินฝากของธนาคารทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายวัสดุจะต้องมีการทำบัญชีและการเบิกจ่ายค่าวัสดุของชุมชน โดยชุมชนจะได้รับคำแนะนำจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบและเงื่อนไข ส่วนงบประมาณการจ้างงานของแต่ละชุมชนจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรตามข้อตกลงการจ้างแรงงาน โดยได้รับความร่วมมือ จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการลดหย่อนค่าธรรมเนียม