กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย/สะพานลอยของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 ถึง 26 มีนาคม พ.ศ. 2558
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,168 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.94 ขณะที่ร้อยละ 49.06 เป็นเพศชาย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 31.34 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปี นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.99 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชน ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจและนักเรียน/นักศึกษา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 29.11 ร้อยละ 24.91 และร้อยละ 21.66 ตามลำดับ
ในด้านพฤติกรรมการข้ามถนนในบริเวณทางม้าลายและสะพานลอย ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44.01 ระบุว่าตนเองข้ามถนนบริเวณทางม้าลายมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.17 ระบุว่าตนเองข้ามถนนบนสะพานลอยมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.82 ระบุว่าข้ามทั้งสองอย่างเท่าๆ กัน ขณะเดียวกันหากในจุดที่ต้องการข้ามถนนนั้นมีทั้งทางม้าลายและสะพานลอย กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 50.6 มักจะเลือกข้ามถนนโดยพิจารณาจากสถานการณ์/สภาพการจราจรในขณะนั้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.31 ระบุว่าตนเองจะเลือกข้ามถนน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.09 เลือกข้ามสะพานลอย
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.32 ยอมรับว่าตนเองเคยข้ามทางม้าลายในขณะที่ไฟสัญญาณจราจรยังคงแสดงเป็นสีเขียวสำหรับให้ยานพาหนะวิ่งอยู่บ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.79 ยอมรับว่าข้ามเป็นประจำ และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 20.89 ระบุว่าไม่เคยเลย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.05 ยอมรับว่าตนเองเคยข้ามถนนในบริเวณที่ไม่มีทั้งทางม้าลายหรือสะพานลอยบ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.88 ยอมรับว่าเคยเป็นประจำ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในห้าหรือเพียงร้อยละ 18.07 ระบุว่าไม่เคยเลย และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างทางข้ามถนนที่เป็นสะพานลอยกับทางข้ามใต้ดิน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.1 ระบุว่าตนเองจะเลือกข้ามสะพานลอยมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.9 ระบุว่าตนเองจะเลือกข้ามทางใต้ดินมากกว่า
ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้ทางม้าลายและสะพานลอย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.47 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันมีทางข้ามถนนทั้งทางม้าลายหรือสะพานลอยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.79 มีความคิดเห็นว่าการข้ามทางม้าลายบนถนนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความปลอดภัยในระดับปานกลาง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.4 มีความคิดเห็นว่ามีความปลอดภัยน้อย โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 18.75 ที่ระบุว่าไม่มีความปลอดภัยเลย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.13 ระบุว่ามีความปลอดภัยมาก และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.93 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.18 เห็นด้วยหากจะมีการเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ได้ข้ามถนนในบริเวณทางม้าลายหรือสะพานลอยให้หนักขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.83 มีความคิดเห็นว่าการติดสัญญาณเสียงควบคู่กับสัญญาณไฟบริเวณจุดทางม้าลายจะมีส่วนช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการข้ามทางม้าลาย และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 58.82 มีความคิดเห็นว่าการตีเส้นทแยงบนพื้นถนนก่อนถึงทางม้าลายจะมีส่วนช่วยให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะให้ความระมัดระวังในการขับขี่ผ่านทางม้าลายมากขึ้น