กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน ?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2558 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,263 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเสรีภาพในการดำเนินชีวิตทั่วไป ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 52.26 ระบุว่า มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตมาก รองลงมา ร้อยละ 34.20 ระบุว่า ค่อนข้างมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ร้อยละ 11.00 ระบุว่า ไม่ค่อยมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ร้อยละ 2.30 ระบุว่า ไม่มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตเลย และร้อยละ 0.24 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่ามีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตมาก – ค่อนข้างมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ให้เหตุผลว่า สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และไม่เดือดร้อนแต่อย่างใด ขณะผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต – ไม่มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตเลย นั้น ให้เหตุผลว่า รู้สึกอึกอัด ทำอะไรก็ไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเสรีภาพทางการเมือง ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 30.80 ระบุว่า มีเสรีภาพทางการเมืองมาก ร้อยละ 32.15 ระบุว่า ค่อนข้างมีเสรีภาพทางการเมือง ร้อยละ 22.88 ระบุว่า ไม่ค่อยมีเสรีภาพทางการเมือง ร้อยละ 10.45 ระบุว่า ไม่มีเสรีภาพทางการเมืองเลย และร้อยละ 3.72 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า มีเสรีภาพทางการเมืองมาก – ค่อนข้างมีเสรีภาพทางการเมือง ให้เหตุผลเพราะ ช่วยทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนยังสามารถมีสิทธิ์และเสียงในการแสดงออกถึงความเห็นทางการเมืองอยู่บ้าง ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมีเสรีภาพทางการเมือง – ไม่มีเสรีภาพทางการเมืองเลย ให้เหตุผลเพราะ การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในบางเรื่อง ยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ จะทำอะไรต้องคำนึงถึงกฎหมายของบ้านเมืองเป็นหลัก
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ (ทั้งในแนวทางสันติและการใช้ความรุนแรง) เพื่อต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. ในขณะนี้ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 44.26 ระบุว่า ไม่สมควรที่จะออกมาเคลื่อนไหวใด ๆ เลย เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่เป็นปกติ ไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย อีกทั้งยังมีกฎอัยการศึกอยู่ ประชาชนควรปรองดองกัน และควรให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานก่อน รองลงมา ร้อยละ 40.30 ระบุว่า เป็นสิทธิที่จะออกมาเคลื่อนไหวแบบสันติเท่านั้น เพราะ ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ควรหันหน้าเข้าหากัน และพูดคุยกันอย่างสันติวิธีตามระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 8.00 ระบุว่า เป็นสิทธิที่จะออกมาเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ เพราะ เพื่อความเป็นประชาธิปไตยอย่างสูงสุด และเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้ ร้อยละ 1.03 ระบุว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้ เนื่องจากแต่ละคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และร้อยละ 6.41 ไม่แน่ใจ/ ไม่ระบุ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการเข้ามาของ คสช. ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 พบว่า ประชาชน ร้อยละ 36.10 ระบุว่า มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะ บ้านเมืองมีความ เป็นระเบียบ มีความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ร้อยละ 39.19 ระบุว่า มีความเป็นประชาธิปไตยเท่าเดิม เพราะ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก ยังใช้ชีวิตตามระบอบประชาธิปไตยเช่นเดิม ร้อยละ 22.49 ระบุว่า มีความเป็นประชาธิปไตยลดลง เพราะไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่เหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากมีกฎอัยการศึกอยู่ และเป็นการปกครองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และร้อยละ 2.22 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 20.27 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 19.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 19.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 19.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 20.90 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 50.99 เป็นเพศชาย ร้อยละ 48.85 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก
ตัวอย่างร้อยละ 9.31 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 30.39 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 46.78 มีอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 13.52 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.31 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.98 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.72 คริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่าง ร้อยละ 27.13 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 68.89 สมรสแล้ว และตัวอย่างร้อยละ 3.98 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 24.94 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 29.96 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.37 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 30.36 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและตัวอย่างร้อยละ 6.37 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 13.56 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 14.83 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่างร้อยละ 23.60 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 14.91 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 13.96 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 12.68 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ตัวอย่างร้อยละ 6.46 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 16.47 ไม่มีรายได้ ตัวอย่างร้อยละ 18.45 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 30.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 13.70 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 6.73 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 7.13 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 6.97 ไม่ระบุรายได้