กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์
บมจ. ยูเอซี โกลบอล หรือ UAC ตั้งเป้ารายได้ปี 58 แตะระดับ 1.5 พันล้านบาท หลังบุ๊ครายได้ APC 400 ล้านบาท ด้านประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “กิตติ ชีวะเกตุ” เผยตั้งงบลงทุนพลังงานทดแทนปีนี้ 1 พันล้านบาท ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส และโซลาร์รูฟ คาดเร็วๆนี้ได้ข้อสรุปเจรจาพันธมิตรใหม่
นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า ในปี 2558 บริษัทฯ ตั้งเป้าเติบโตมากกว่า 1,500 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ คือ 1,200 – 1,300 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการรับรู้รายได้ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคอล จำกัด หรือ APC เข้ามามากกว่า 400 ล้านบาทในปีนี้ และโรงงานที่ จ. เชียงใหม่ ที่สุโขทัย ขอนแก่น และ โซล่ารูป จะเดินหน้าผลิตได้เต็มที่
สำหรับแผนในการขยายธุรกิจปีนี้ บริษัทฯตั้งงบลงทุนไว้ จำนวน 1,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส 6 โรง มีกำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ประมาณ 300 ล้านบาท ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โซลาร์รูฟ กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ ประมาณ 50 ล้านบาท และใช้ไปกับการซื้อ APC อีก 250 ล้านบาท
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการขยายธุรกิจด้านพลังงานทดแทนให้ได้ตามเป้า 30 เมกะวัตต์ และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และใช้เพื่อการเจรจาซื้อกิจการ ซึ่งขณะนี้ ได้เจรจากับพันธมิตรธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลไว้แล้ว 2-3 รายมูลค่าการลงทุนที่ 600-700 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเร็ว ๆ นี้ จึงตั้งเป้า 3 ปีคาดว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างน้อยปีละ 5 โรงกำลังการผลิตรวม 7.5 เมกะวัตต์
ด้านการขยายธุรกิจด้านเคมีภัณฑ์ บริษัทฯ ก็มีแผนต่อยอดธุรกิจจากการควบกิจการกับทาง APC โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเจรจาร่วมกับพันธมิตรจากประเทศยุโรปและญี่ปุ่น เพื่อร่วมทุนต่อยอดธุรกิจ นอกจากนี้บริษัทฯ มีแผนเตรียมส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศ CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปการเจรจาในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้บริษัทฯ ก็ยังมีแผนที่จะนำบริษัทฯ ลูก คือ บริษัท แอ๊ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคอล จำกัด หรือ APC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ
“ปีนี้บริษัทมีการขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในแบบเชิงรุกมากขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าธุรกิจด้านพลังงานทดแทนในอนาคตมีการเติบโตที่ดี และอีกประการหนึ่ง ภาครัฐก็ได้ให้ความชัดเจนแล้วในการให้การส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองว่าบริษัทฯ มีศักยภาพที่จะขยายธุรกิจไปให้ได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าขยายโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือไบโอแก๊ส ประมาณ 10 แห่งต่อปี ซึ่ง 1 แห่งจะมีกำลังการผลิตที่ 1.5 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี 10 แห่ง”นายกิตติ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนทั้งการซื้อกิจการและการเข้าไปร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปแผนการดำเนินธุรกิจได้ภายในต้นไตรมาส 2/2558
ด้านโรงไฟฟ้าชีวมวลตอนนี้กำลังศึกษารูปแบบการลงทุน ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งการจะเข้าซื้อกิจการ และการร่วมทุน ตอนนี้มีคุยกับเจ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่หลายแห่ง ถ้าเราเข้าซื้อจะสามารถบันทึกรายได้เข้ามาทันที แต่ถ้าเรารอสร้างใหม่ต้องรออีก 1-2 ปี แต่การลงทุนก็จะใช้เงินน้อยกว่าการซื้อกิจการ
สำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะ ต้องรอดูนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากทางภาครัฐก่อน แล้วบริษัทฯ จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป ทั้งนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับพันธมิตรอยู่ 2-3 ราย คาดว่าจะเห็นได้ชัดเจนในไตรมาส 2/2558 บริษัทฯ คาดเห็นชัดเจนและดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวะมวลเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าโรงไฟฟ้าขยะ ปัจจุบันวัตถุดิบในโครงการ หรือโรงงานส่วนใหญ่มาจากหญ้าเนเปียร์ จะมีเพียงแต่ที่โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ใช้วัตถุดิบจาก Associated gas เท่านั้น และมีพลังงานแสงอาทิตย์ ในโครงการโซลาร์รูฟ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ก็กำลังศึกษาและหาทางที่จะนำวัตถุดิบอื่น ๆ มาใช้ในการขยายธุรกิจด้านพลังงานทดแทนอีกด้วย จึงโดยมั่นใจว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงาน 50% และธุรกิจเคมีภัณฑ์ 50% ภายในปี 2560 ได้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ยูเอซี โกลบอล (UAC ) กล่าวเพิ่มถึงแผนการดำเนินการขยายธุรกิจด้านเคมีภัณฑ์ ปัจจุบันว่า บริษัทฯมีการดำเนินการต่อยอดธุรกิจจากการควบกิจการกับทาง APC ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก คือ เคมีภัณฑ์ประเภทลาเท็กซ์อิมัลชั่น (โพลิเมอร์อิมัลชั่น และโพลิเมอร์โซลูชั่น) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมสีและอุตสาหกรรมก่อสร้าง การเคลือบอุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุจากใยสังเคราะห์ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กาว เทปกาว กระดาษและบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
โดยมีแผนจะพัฒนาโปรดักส์ ใหม่ร่วมกับพันธมิตร โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเจรจาร่วมกับพันธมิตรจากประเทศยุโรป และญี่ปุ่น เพื่อร่วมทุนต่อยอดธุรกิจ นอกจากนี้บริษัทฯ มีแผนเตรียมส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศ CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปการเจรจาในเร็ว ๆ นี้ สำหรับ ถือเป็นการขยายธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เพิ่มเติมจากการเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและชุมชน เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานหรือผู้ที่สนใจเรื่องการปลูกหญ้า เนเปียร์ โดยบริษัทฯมีทีมงานเข้าไปให้ความรู้ วิธีการปลูก คำแนะนำในการปลูก และการเก็บเกี่ยว
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็จะรับซื้อหญ้าเนเปียร์ทั้งหมดในราคาหน้าโรงงาน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรมีรายได้อีกทางหนึ่ง และเนื่องจากบริษัทฯ มีโรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็มีความต้องการวัตถุดิบดังกล่าวเป็นจำนวนมากเช่นกัน เช่น ที่ จ. เชียงใหม่ บริษัทฯ มีโรงงาน 2 แห่ง มีความต้องการหญ้าที่จะใช้เข้าไปในระบบการผลิตทุกวัน นอกจากนี้ยังมีโรงงานอื่น ๆ อีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เช่น โรงงานที่ จ. ขอนแก่น เราก็ต้องการวัตถุดิบดังกล่าวเป็นจำนวนมากเช่น กัน โดยวิธีการส่งเสริม เราใช้แนวทางหรือหลักการเดียวกัน คือ ส่งทีมเข้าไปให้ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องวิธีการปลูก การดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยว เป็นต้น
อย่างไรก็ดีมองว่าแนวโน้มด้านธุรกิจพลังงานทดแทนในปีนี้และอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากจะเห็นได้ว่า รัฐบาลมีนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจนที่จะส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 20 ปี (ปี 2558-2579) ได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 22-25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 11% รองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตตามคาดการณ์ ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า 3 ประเภทคือ พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์) ขยะ และชีวมวล ชีวภาพ โดยในส่วนโซลาร์เซลล์ มีแผนจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีกเท่าตัวหรือประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการค้างท่อจำนวน 1,013 เมกะวัตต์ ตลอดจนโครงการติดตั้งโซลาเซลล์บนหลังคา 200 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์เซลล์สหกรณ์-หน่วยงานราชการ 800 เมกะวัตต์ รวม 3,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ การส่งเสริมโรงไฟฟ้าขยะ และชีวะมวล มีแนวคิดเปิดรับซื้อไฟฟ้าแบบไม่มีโควตา ซึ่งผู้สนใจที่มีความพร้อมและอยู่ในเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้รับการพิจารณาด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT