กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้ในการจำกัดหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยก็สามารถใช้แหล่งเงินทุนนี้ได้ โดยหน่วยงานที่สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนผ่านสผ. ในฐานะหน่วยงานประสานกลาง ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับ GIZ เพื่อเตรียมความพร้อมในขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ
นายประเสริฐ ศิรินภาพร ผู้อำนวยการ สำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. กล่าวว่า “กองทุน Green Climate Fund เป็นหน่วยปฏิบัติการด้านการเงินของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ตามมาตรา 11 โดยภายในปีพ.ศ. 2563 ผู้นำของประเทศที่พัฒนาแล้วมีพันธสัญญาร่วมกันภายใต้ UNFCCC ที่จะร่วมมือกันระดมทุนให้ได้ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งขณะนี้ระดมทุนได้แล้ว 10,200 ล้านเหรียญสหรัฐ กองทุนนี้จึงเป็นแหล่งเงินทุนหนึ่งที่สำคัญที่ประเทศไทยจะสามารถนำมาใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในมิติต่างๆ ต่อไป”
“ในฐานะหน่วยประสานงานกลางระหว่างสำนักงานกองทุน GCF และประเทศไทย สผ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องกองทุนฯ ให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเข้าถึงเงินทุน และการจัดตั้งหน่วยดำเนินงาน (Implementing Entities) รวมทั้งการเตรียมความพร้อม ซึ่งสผ. ได้รับความร่วมมือจาก GIZ ในการดำเนินงานต่างๆ เพื่อให้หน่วยดำเนินงาน รวมทั้งเนื้อหาโครงการที่เสนอขอทุนมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของกองทุน GCF โดยหน่วยงานหรือโครงการที่สนใจขอรับทุนสามารถติดต่อมาได้ที่สผ.” นายประเสริฐ กล่าวเสริม
มร. ทิม มาห์เล่อร์ ผู้อำนวยการโครงการ GIZ ประเทศไทย กล่าวว่า “GIZ ได้ร่วมมือกับสผ. ในโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่ปี 2551 โดยล่าสุดได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยในระยะการเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับทุนจากกองทุน GCF ที่อยู่ภายใต้แผนงาน Climate Finance Readiness Programme (CF Readiness) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกของ GIZ ซึ่งในประเทศไทยจะร่วมมือกับสผ. จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อ 1) เสริมสร้างศักยภาพของสผ. ในบทบาทหน่วยงานประสานงานกลาง 2) สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยดำเนินงาน (Implementing Entities) และกระบวนการอนุมัติหรือขึ้นทะเบียน และ 3) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในกองทุนและจัดประชุมเพื่อหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินงานขอรับทุนของประเทศไทย
จากความร่วมมือกับประเทศนำร่องกว่า 10 ประเทศทั่วโลก รวมกว่า 25 โครงการ ภายใต้แผนงาน CF Readiness นี้ GIZ มีความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นว่าความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของ GIZ จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากความร่วมมือในครั้งนี้อย่างเต็มที่และเกิดประสิทธิผลสูงสุด”