กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ นายกฤษฎา ล่ำซำ รองประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นประธานในการเปิดงาน “แบ่งปันปัญญา: เพื่อปัญญาที่งอกงาม ของครูและนักเรียน” เวทีนำเสนอผลงานระดับประเทศ ประจำปี 2558 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ กล่าวว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เป็นต้นแบบในการพัฒนาครูควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้เรียนและสถานศึกษา ด้วยเหตุนี้ สกว.จึงได้ประกาศให้โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นผลงานวิจัยเด่น ด้านสาธารณะ ประจำปี พ.ศ.2557 โอกาสนี้ต้องขอขอบคุณคณะทำงาน โดยเฉพาะคุณครูเพาะพันธุ์ปัญญา และทีมศูนย์พี่เลี้ยงทุกคนที่ใช้ความพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า วิจัยคือเครื่องมือทางการศึกษาที่สำคัญ ที่ทำให้ตัวผู้เรียนมีทักษะด้านต่างๆที่สอดรับกับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21
ด้านนายกฤษฎา ล่ำซำ รองประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของการศึกษาตั้งแต่ปี 2536 ได้มีการจัดทำโครงการการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งธนาคารยังคงสานต่อในเรื่องการพัฒนาการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การวิจัย (สกว.) ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ปี 2 นี้ จะขยายผลไปสู่การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยคำนึงถึง ความสมดุลในการทำงานทุกมิติ กล่าวคือ การดำเนินธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าอย่างมั่นคง ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความยั่งยืนสำหรับคนในรุ่นต่อๆไป ดังปณิธานร่วมกับ สกว.ที่มุ่งสร้างสรรค์และพัฒนาให้เป็นสังคมแห่งปัญญา โดยการทำโครงงานวิจัยอันเป็นกระบวนการศึกษานอกหลักสูตรที่มีคุณค่าสำหรับเยาวชนและประเทศไทยในระยะยาว
อนึ่งการจัดงานครั้งนี้ ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติมากล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การปฏิรูปการศึกษากับการผลิต และพัฒนาครูโดยใช้การเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัย (Research Base Learning)” ทั้งนี้ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรม ผลิดอกออกผล นำเสนอกิจกรรมการเรียนการสอนในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา โดยกลุ่มครูและนักเรียนจาก 8 ศูนย์พี่เลี้ยง กิจกรรมครูและนักเรียน อาทิ The Musical Learning “ฤดูกาลเรียนรู้ที่แจ้ห่มวิทยา” แสดงกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ตามแนว Project Based Learning (PBL) Based on true story โดยคณะครู และนักเรียนจากโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา จ.ลำปาง เวทีเสวนาสาธารณะ “ปฏิรูปการศึกษาไทยโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง” ซึ่งเป็นเวทีสื่อกลางเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ว่า “การวิจัย” ไม่ใช่การสร้างความรู้ของครูเพียงผู้เดียว แต่การวิจัยเป็น “เครื่องมือการเรียนรู้” ที่ทำให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงที่สามารถพัฒนาปัญญา จิตใจและทักษะการทำงานไปพร้อมๆกันได้