กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--RC CRown
นักวิชาการห่วงบุคลากรทางการแพทย์งานหนัก เครียดสะสม จนลืมเจตจำนงการทำงานของวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งตั้งแง่ตั้งคำถามกับผู้ป่วยและภาระงาน แนะบ่มเพาะศรัทธาจะทำสิ่งที่ดีงามเป็นชีวิตจิตใจ ช่วยดึงดวงจิตกลับมาความเมตตาเพื่อผู้อื่น เชื่อช่วยให้การรักษาพยาบาลมีคุณภาพขึ้น
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการ และนักปฏิบัติ บรรยายเรื่อง "เดินตามทำนองใจ" ในงานประชุมวิชาการครั้งที่ 16 จินตนาการสร้างสรรค์คุณภาพ จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ฯลฯ ล้วนแต่เข้ามาสู่วิชาชีพ ด้วยเพราะมีจิตมีใจที่คิดอยากช่วยเหลือผู้อื่น แต่จากภาระงานการทำงานที่หนักหนา ยุ่งยาก และลำบาก ก่อให้เกิดความเครียดรุมเร้าดวงจิตเดิมที่เรามาเพื่อที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น จนบางครั้งกลายเป็นทำไมเราต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ ต้องมาดูแลทำหน้าที่อีกแล้ว กลายเป็นใจเราออกห่างจากเจตจำนงเดิมที่ตั้งใจไว้ว่าจะช่วยเหลือผู้อื่น ดังนั้น บุคลากรทางการแทย์จะต้องพึงระลึกเอาไว้อยู่เสมอว่าจะต้องพยายามทำให้ดวงจิตเราจะต้องกลับไปอยู่ ณ จุดเดิมให้ได้ คือเพื่อบำบัดทุกข์ให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งการจะพาจิตกลับไปได้อย่างไรนั้น ต้องอาศัยท่วงทำนอง ซึ่งถือว่าเป็นการเยียวยาตัวเองด้วย
ดร.ประมวล กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ดวงจิตเรากลับไปสู่ความมุ่งมั่นตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่นนั้นอย่างแรกจะต้องมีศรัทธาเสียก่อน เพราะศรัทธาคือความเชื่อ เชื่อว่าจะสามารถทำสิ่งที่ดีงามได้ ตรงนี้เองจะทำให้เราเกิดความพากเพียรและมีพละกำลังที่มาจากไหนไม่รู้ และสุดท้ายจะก่อให้เกิดจิตที่เมตตา คือพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นโดยที่ไม่ตั้งแง่ ไม่มีการตั้งคำถามว่าทำไมถึงจะต้องทำ เหมือนกับผู้หญิงที่พอมีลูกและได้ชื่อว่าเป็นแม่ เขาจะมีจิตเมตตาอยากดูแลลูกต่อไปตลอดชีวิต ไม่ว่าลูกจะโตเพียงใดแล้วก็ตาม พลังที่ไม่รู้มาจากไหนก็จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของแม่ให้ทำเพื่อลูกได้ทุกอย่าง
"ความศรัทธาที่เรามีนั้นจะต้องบ่มเพาะให้เป็นชีวิตจิตใจ อย่าให้ดวงจิตเราหลงไปกับการงานที่มากและความเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วการที่รู้สึกอยากช่วยเหลือผู้อื่นไม่ใช่แค่แต่เพียงวิชาชีพด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่มันเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรมี ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่อาชีพใดก็ตามก็ควรต้องพึงดึงจิตเรากลับมาให้คิดอยากช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ แต่สำหรับบุคลากรด้านการแพทย์นั้นหากเราดึงจิตให้กลับไปสู่ความตั้งใจในการช่วยเหลือผู้อื่น เหมือนตอนที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วิชาชีพตั้งแต่แรกได้นั้น ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้การรักษาพยาบาลมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น" ดร.ประมวล กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงาน นายชัยพร นำประทีป ศิลปินนักเขียนเพลงบรรเลงชีวิต ยังได้บรรเลงดนตรีท่วงทำนองของชีวิตในหลายเพลงให้แก่บุคลากรสาธารณสุขที่เข้าร่วมได้รับฟัง สร้างความซาบซึ้งและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก โดยนายชัยพร กล่าวว่า แต่ละคนต่างมีท่วงทำนองของตนอยู่ในใจอยู่แล้ว แต่บางครั้งเราไปลอกรับเอาท่วงทำนองชีวิตของคนอื่นมาด้วยความไม่เข้าใจ สุดท้ายก็เกิดคำถามและละทิ้งท่วงทำนองดังกล่าวไป จริงๆ แล้วการลอกรับท่วงทำนองของคนอื่นสามารถทำได้ แต่ต้องลอกรับมาด้วยการมีสติสัมปะชัญญะ และนำเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างท่วงทำนองของตนเอง