กรุงเทพ--26 มี.ค.--โมโตโรล่า (ประเทศไทย)
วันนี้ (26 มีนาคม) แผนกวิทยุติดตามตัวบริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศเปิดตัววิทยุติดตามตัวโมโตโรล่า รุ่นสคริปเตอร์ แจ๊ส ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อคนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่วางตลาดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสุดยอด ซึ่งเป็นวิทยุติดตามตัวภาษาไทยที่มีขนาดเล็กที่สุดจากโมโตโรล่า
นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและส่งเสริมการขายประจำภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก แผนกวิทยุติดตามตัวของโมโตโรล่า กล่าวว่า จากการสำรวจของเราพบว่า เพจเจอร์ ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใช้สำหรับส่งข่าวสารส่วนตัวที่จำเป็นอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตในยุคสังคมข่าวสารของคนรุ่นใหม่อย่างในปัจจุบัน โดยเฉพาะวัยรุ่นได้หันมาพกเพจเจอร์กันมากขึ้น จนเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นการแต่งกาย โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มองหาเครื่องเพจเจอร์ที่ได้รับการออกแบบด้วยรูปลักษณ์ที่ล้ำสมัย สีสันสดใสสวยงาม และมีขนาดเล็กกะทัดรัดสามารถพกพาได้สะดวก ผลการสำรวจเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการตัดสินใจวางตลาดเพจเจอร์รุ่นสคริปเตอร์ แจ๊สของเราในครั้งนี้”
วิทยุติดตามตัวรุ่นใหม่จากโมโตโรล่ามีขนาด 60 x 39 x 17.1 มม. และหนักเพียง 44.15 กรัม มีสีสันสดใส ล้ำสมัยด้วยโทนสีเมททัลลิกใหม่ล่าสุด มีให้เลือกหลากสี แสดงข้อความภาษาไทยหนึ่งบรรทัด สามารถเก็บข้อความภาษาไทยได้มากถึง 14,000 ตัวอักษร
เป้าหมายทางการตลาดของวิทยุติดตามตัวโมโตโรล่า สคริปเตอร์ แจ๊ส คือกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ใช้เพจเจอร์สำหรับติดต่อเพื่อนฝูงและครอบครัว รวมทั้งรับทราบข้อมูลข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับรูปแบบการใช้ชีวิต แฟชั่น ภาพยนตร์ เพลง ภาษา ฯลฯ โดยข้อดีที่จะเป็นปัจจัยดึงดูดให้วัยรุ่นหันมาใช้วิทยุติดตามตัวกันมากขึ้นได้แก่ ค่าบริการที่เก็บในอัตราเดียวตายตัวนั่นเอง
นายอนุพันธ์ ภักดีศุภฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายขายประจำภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก กล่าวเสริมว่า ในฐานะผู้นำของตลาดวิทยุติดตามตัว โมโตโรล่าได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับลูกค้าในการค้นหาผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายและลู่ทางการตลาดใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายที่จะลงทุนในนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง
ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างในขณะนี้ เราเห็นโอกาสทางการตลาดสำหรับเพจเจอร์ ในฐานะเครื่องมือสื่อสารที่ให้ความประหยัดสำหรับผู้ใช้จากค่าใช้จ่ายที่ตายตัว และคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา ขอบข่ายการสื่อสารกว้างไกล พกพาสะดวก และสามารถสื่อสารจากหนึ่งคนถึงหลายคนในขณะเดียวกันได้” นายอนุพันธ์ กล่าว
สำหรับปีนี้นั้น แผนกวิทยุติดตามตัวของโมโตโรล่ามีนโยบายที่จะเน้นจัดสรรทรัพยากรสำหรับแผนงานการตลาดเเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนลูกค้าของบริษัทซึ่งได้แก่ โฟนลิ้งค์ แพ็คลิ้งค์ ฮัทชิสัน อีซี่คอล เวิร์ลเพจ และสามารถ โดยจะจัดกิจกรรมที่เน้นการสื่อสารโดยตรงถึงกลุ่มเป้าหมายในเขตกรุงเทพฯ เชียงใหม่ โคราช และหาดใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่น
นายสุภกิจกล่าวว่า บริษัทจะร่วมมือกับหุ้นส่วนธุรกิจในการจัดกิจกรรมโปรโมชั่น เพื่อสนับสนุนผู้ให้บริการเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้วิทยุติดตามตัว
โมโตโรล่าได้ร่วมกับบริษัท โคคา-โคล่า ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำจัดรายการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแฟนต้าสำหรับผู้บริโภคทั่วประเทศ รายละเอียดของแคมเปญดังกล่าว ซึ่งถือเป็นแคมเเปญแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทยและในโลก จะเปิดเผยให้ทราบปลายเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ แฟนต้าเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มวัยรุ่น ผลจากการตอบรับดังกล่าวส่งผลให้แฟนต้าเป็นเครื่องดื่มประเภทน้ำส้มอันดับ 1 ของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของตลาดน้ำส้มทั่วโลก ในปี 2539 แฟนต้าสามารถจำหน่ายได้มากกว่า 1,000 ล้านลังในตลาดทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก
นอกจากนี้ นายสุภกิจยังได้แสดงความมั่นใจในลู่ทางการตลาดระยะยาวของตลาดวิทยุติดตามตัวในประเทศไทย เราเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้จะมีปัญหาอย่างไรก็ตาม แต่เราก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะอยู่ในตลาดนี้ต่อไปในระยะยาว ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด เรามีการลงทุนวิจัยผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ เรารับฟังความต้องการของคนไทย และทำความเข้าใจกับความต้องการของผู้ให้บริการอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็มีการแนะนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง” นายสุภกิจกล่าว
โมโตโรล่าเป็นผู้นำของโลกในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีวิทยุติดตามตัว โทรศัพท์เคลื่อนที่ และวิทยุสื่อสาร โดยในปี 2540 ที่ผ่านมา บริษัทใช้งบไปกว่า 2,750 ล้านเหรียญสหรัฐในการวิจัยและพัฒนา
โมโตโรล่าเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำที่ผลิตและให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย รวมไปถึงอุปกรณ์เซมิ-คอนดักเตอร์ ระบบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ล้ำยุค โดยมีธุรกิจหลักๆ คือ การผลิตและให้บริการสนับสนุนแก่โทรศัพท์เคลื่อนที่ วิทยุสื่อสาร วิทยุติดตามตัว ระบบสื่อสารข้อมูล ระบบสื่อสารส่วนบุคคล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการป้องกันประเทศและอวกาศ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของโมโตโรล่าถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือสื่อสาร เครื่องคอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ นับล้านเครื่อง ในปี 2540 โมโตโรล่ามียอดขายทั่วโลก 29,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คริส คู / ดอรีน แวน โบเวน บริษัท บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด โทร. 652 0455-6 / 652 1946-7 แฟ็กซ์ 652 1948--จบ--