กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ระบุ กทม.มีสิทธิจมบาดาลอีกรอบหากไม่รีบหาทางบริหารจัดการน้ำ ด้านนักแผ่นดินไหววิทยาชูต้นแบบญี่ปุ่นสร้างสถานีวัดระดับแผ่นดินไหว 2 พันแห่งทั่วประเทศ ทำให้การเตือนภัยมีประสิทธิภาพ
การจัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 9 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ประจำปี 2558 ภายใต้หัวข้อ "เชื่อมห่วงโซ่คุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย" (Coalition for Thai EMS Quality) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “ การบริหารจัดการทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ” โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญทางด้านภัยพิบัติเข้าร่วมเสวนาเป็นจำนวนมาก
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ กล่าวถึงแผ่นดินไหวที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่าเป็นแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรง แต่ในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยอาจต้องเจอแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากกว่านี้ ดังนั้นการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการในการเตรียมพร้อม โดยเรื่องที่ต้องเร่งทำคือการออกกฎกระทรวงเรื่องการสร้างตึกสูง หรือสิ่งปลูกสร้างที่มากกว่า 5 ชั้น ต้องเป็นตึกที่รองรับระบบแผ่นดินไหว เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวจะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก ส่วนกรณีการเกิดสึนามินั้นเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือต้องเตรียมตัวรับมือกับภัยสึนามิให้ได้ โดยการสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน คือต้องบรรจุเป็นหลักสูตรในการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ และสร้างระบบการเตือนภัยที่แม่นยำ มีประสิทธิภาพ
ส่วนกรณีน้ำท่วมพื้นที่กทม.นั้น ดร.เสรี กล่าวว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอีก เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาคือปริมาณของน้ำฝนที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยกทม.มีความสามารถในการรับมือน้ำฝนได้ 100 มล.ต่อชั่วโมง แต่หากมากกว่านี้ระบบระบายน้ำของกทม.ไม่สามารถรับมือได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ อโศก อสมท. กระทรวงกลาโหม เขตห้วยขวาง บางกะปิ บางรัก สาธร เป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีความน่ากังวล ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาแนวทางรับมือ เหมือนกรณีที่หลายประเทศสร้างถนนที่ซับน้ำและระบายน้ำได้ และสิ่งที่สำคัญคือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือกันถึงการบริหารจัดการน้ำที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยจะต้องไม่ผลักภาระให้จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยในการจัดการภัยพิบัติคือการเตือนภัย ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นเมื่อมีภัยพิบัติแผ่นดินไหว หรือ สึนามิเกิดขึ้นการเตือนภัยจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ทำให้การอพยพเป็นไปอย่างรวดเร็วจนทำให้ลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นจำนวนมาก แต่ขั้นตอนการเตือนภัยของประเทศไทย จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังล่าช้าและขั้นตอนยุ่งยาก หากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นจริง ตนเชื่อว่าจะเกิดการสูญเสียจำนวนมาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเริ่มวางแผนการป้องกันสาธารณภัยระดับชาติให้ชัดเจนและต้องสร้างระบบการสื่อสารและการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้
ขณะที่ ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่องภัยพิบัติ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านโดยทั่วไปยังไม่สนใจเรื่องนี้กันมาก จึงทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการศึกษาและองค์ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับภัยพิบัติของประชาชนทั่วไปมีน้อยทำให้ทักษะในการเอาตัวรอดหากเกิดภัยพิบัติของประชาชนทั่วไปน้อยตามไปด้วย ซึ่งภัยพิบัติที่ตนอยากเน้นมากที่สุดคือ แผ่นดินไหว เพราะเป็นภัยพิบัติที่ทำลายล้างอย่างมหาศาลและไม่เลือกฤดูกาลที่จะเกิด พร้อมทั้งก่อผลกระทบและสร้างการสูญเสียจำนวนมาก ไม่ว่า จะเป็นน้ำท่วม สึนามิ ไฟไหม้ ตึกถล่ม ทั้งนี้เราไม่อาจไปห้ามหรือขัดขวางให้เกิดภัยพิบัติได้ แต่เราสามารถเตรียมพร้อมไม่ให้เกิดการสูญเสียได้
นักแผ่นดินไหววิทยา กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมอันดับแรก คือ การให้ความรู้เรื่องความรุนแรงและการสูญเสีย ของภัยพิบัติแผ่นดินไหวว่ามีความรุนแรงและสร้างความสูญเสียได้มากน้อยแค่ไหน โดยที่ผ่านมา ความรุนแรงของแผ่นดินไหวในระดับ 5-6 ริกเตอร์ จะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน และในระดับ7-8 ริกเตอร์ ตึกหนาเป็นเมตรหรือเสริมคอนกรีตก็สามารถพังลงมาได้อย่างง่ายดาย ส่วนแผ่นดินไหวในระดับ 9.1ริกเตอร์ นั้นสามารถสร้างการสั่นสะเทือนได้รอบโลกมาก 7-8 รอบ นอกจากนี้แล้วตนยังมีสถิติของผู้เสียชีวิตสูงสุดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแต่ละปีของทั่วโลกมาให้เราได้เรียนรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วย ซึ่งในปี 2010 ได้เกิดแผ่นไหวที่ประเทศเฮติ ระดับ7.0ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 316,000 คน ในปี 2011 ที่ประเทศญี่ปุ่นเกิดแผ่นไหว ระดับ 9.0 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 20,896 คน และในปี2012 เกิดที่ประทศฟิลิปปินส์ 6.7 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต113 คน และประเทศปากีสถาน ขนาดแผ่นดินไหว 7.7 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 825 คน และในปี2012 เกิดแผ่นไหวที่ประเทศจีน ระดับ 6.2 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 729 คน ซึ่งบทเรียนความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากหลายประเทศนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวให้ได้
ดร.ไพบูลย์ กล่าวว่าสิ่งที่สำคัญในการเตรียมการรับมือแผ่นดินไหวคือเราต้องสร้างระบบการเตือนภัยล่วงหน้าให้เกิดขึ้นให้ได้ ให้เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น ที่เขาสามารถสร้างการเตือนภัยและหยุดการสูญเสียได้ โดยประเทศญี่ปุ่นมีสถานีวัดระดับแผ่นดินไหวกว่า 2,000 สถานี เทียบเป็นสัดส่วน1ต่อ7 ของเซเว่นอีเลฟเว่น ทั่วประเทศ ซึ่งเท่ากับว่าถ้ามีเซเว่น 7 ที่ก็จะมีสถานีเตือนภัยแผ่นดินไหว1 แห่ง จึงทำให้การเตือนภัยมีประสิทธิภาพและสามารถเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวอพยพได้ ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยนั้นมีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเพียงแห่งเดียวและขั้นตอนการเตือนภัยก็ยังไม่เป็นระบบ ดังนั้นเป้าหมายในการลดภัยพิบัติ จากแผ่นดินไหว เราต้องมีการวางแผนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อลดการสูญเสีย และใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ที่สุด รวมถึงต้องให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้เขารู้ว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรอย่างไร ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ รวมถึงต้องมีวิธีการมีกรอบและวิธีการคัดกรองผู้บาดเจ็บที่ชัดเจน และต้องสร้างความมั่นใจในการดูแลรักษาประชาชน ตลอดจนให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้กับประชาชน
ด้าน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติการจัดการเรื่องศพเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมีประเด็นด้านกฎหมายที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งจากบทเรียนสึนามิที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดเจนว่าเราไม่มีแผนรองรับสำหรับคนที่เสียชีวิต โดยหลังจากนี้เราต้องทำให้เป็นระบบและชัดเจน ทั้งการเคลื่อนย้ายศพ ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เราต้องทำระบบ GPS system และ body tag หรือป้ายระบุตัวตนของศพให้ชัดเจน ซึ่งเป็นป้ายที่ระบุตัวเลขและเคลือบพลาสติกกันน้ำ อีกทั้งระบบการจัดการศพต้องทำในสถานที่ปิดและทำงานง่าย เช่น โรงยิม นอกจากนี้แล้ว ไม่ควรลืมการดูแลครอบครัวและความพร้อมในการให้ข้อมูลกับครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยต้องแบ่งทีมอย่างชัดเจน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินของคนตายที่ต้องทำอย่างโปร่งใส ตลอดจนคนที่จะเข้ามาบริหารจัดการเรื่องนี้ต้องทำงานเป็นและต้องจัดการปัญหาได้