กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังกลายเป็นกระแสหลัก สร้างจุดเปลี่ยนในแวดวงธุรกิจมากมาย ม.เทคโนโลยีมหานคร ในฐานะสถาบันการศึกษาที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยี มีผลงานสิ่งประดิษฐ์รางวัลชนะเลิศมากมาย โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงตอกย้ำจุดแข็งในด้านนี้ก่อนใคร ด้วยการเปิดหลักสูตรใหม่ “หลักสูตรวิศวกรรรมบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Engineering)” เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลและตลาดงานที่นับวันจะยิ่งต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ พร้อมปฏิบัติงานได้จริง ในทางด้านนี้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้จุดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยีการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เรียนภาพกว้างแต่เข้าใจในบริบทของการบริหารจัดการ รองรับการทำงานของทุกองค์กร ใหญ่ กลาง เล็ก รวมถึงสามารถเป็นผู้ประกอบการเองได้เลย
รศ.ดร.อธิคม ฤกษบุตร คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร เผยว่า “ระบบเศรษฐกิจของสังคมหรือของประเทศล้วนแปรผันตามอัตราการเจริญเติบโตของการดำเนินธุรกรรมเชิงพาณิชย์ที่หลากหลายภายในประเทศ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยงานทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ โดยมีแนวทางที่เกี่ยวข้อง 5 ด้านประกอบด้วย 1.Hard Infrastructure 2.Soft Infrastructure 3.Applications/Services 4.Content/Promotions 5.Khowledge and Society เหล่านี้ ล้วนทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติด้านวิศวกรรมในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นศาสตร์ที่ช่วยผลักดันการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสเศรษฐกิจโลก
ด้านรายละเอียดหลักสูตรใหม่ วิศวกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลคืออะไร? วิศวกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสหวิทยาการทางวิศวกรรมเชิงประยุกต์ที่ต้องการผลิตวิศวกรที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่และเข้าใจหลักการทำธุรกิจควบคู่กัน ผู้ศึกษาทางด้านนี้จะมีองค์ความรู้ในหลายๆ ส่วนบูรณาการเข้าด้วยกันดังนี้ 1.ด้านโทรคมนาคม คือ ระบบโครงข่ายโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์, ระบบสื่อสารแบบต่างๆ ระบบสายส่งแบบมีสายและไร้สาย, ระบบสื่อสารผ่านเส้นใยแก้วนำแสง 2.ด้านคอมพิวเตอร์ คือ ระบบปฏิบัติการที่ใช้ในแพลตฟอร์มแบบต่างๆ, ภาษาโปรแกรมสมัยใหม่, ระบบฐานข้อมูล, การพัฒนาซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชันบนแฟลตฟอร์มต่างๆ 3.ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การบริหารโครงการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี, การออกแบบนวัตกรรมสมัยใหม่เชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล, บริบทที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเทคโนโลยี, เทคโนโลยีโลจิสติกส์และการบัญชีที่ใช้ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
โครงสร้างหลักสูตร จะมีจำนวนหน่วยกิจรวม 141 หน่วยกิต ระยะเวลาการศึกษา 4 ปี จำแนกเป็น 1 หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต 2 หมวดวิชาเฉพาะ 105 หน่วยกิต 3 หมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต รายวิชาในหลักสูตรคัดสรรน่าสนใจ รองรับกับธุรกิจในอนาคต ทั้ง Digital Commerce Technology, Web Technology and Design, Digital Multimedia Applications Design, Digital Economy Laws and Ethics, Engineering Project Management, Digital Innovation Based Design,Computer Network and Adminstration, Security in Computer and Networking Systeam, Optical Fibre Communications Systeams, Broadband Communication
ภายหลังบัณฑิตจบการศึกษา สามารถประกอบอาชีพได้แทบทั้งหมด หลากหลายสาขา ทั้ง วิศวกรดูแลระบบคอมพิวเตอร์และจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ, วิศวกรดูแลระบบและติดตั้งระบบสื่อสารโทรคมนาคม, วิศวกรออกแบบและติดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์, วิศวกรวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์, วิศวกรจัดการโครงการทางโทรคมนาคม, นักพัฒนาและจัดการเว็บไซต์, นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือแพลตฟอร์มต่างๆนักพัฒนานวัตกรรมต่างๆ สู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ ฯลฯ
รศ.ดร.อธิคม กล่าวเพิ่มเติม “อย่างที่แจ้ง หลักสูตรเราการบูรณาการ โครงสร้างพื้นฐานของระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบคอมพิวเตอร์ การสื่อสารข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการสร้างแอพพลิเคชั่นบนแพลทฟอร์มต่างๆ การเรียนภาพกว้าง แต่เข้าใจในบริบทบริหารจัดการเพิ่มเติมเข้าไป เพราะฉะนั้นบัณฑิตหรือวิศวกรที่จบ ทำงานได้หลากหลายมิติ โครงสร้างพื้นฐาน โอเปอเรเตอร์หรือผู้ให้บริการระบบสื่อสารทั้งหลาย CAT TOT AIS Dtac True ฯลฯ รวมไปถึงบริษัทฯ ที่ใช้เทคโนโลยีมาให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง เช่น บริษัทพัฒนาเว็บไซต์ คอนเทนต์ ใช้สื่อข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตในเรื่องการทำธุรกรรม และที่สำคัญที่เราเน้น แตกต่าง ไม่เพียงทำงานในองค์กรใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กทั่วไปแล้ว เรายังส่งเสริมให้บัณฑิต สร้างงานเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันใหม่ๆ เราสามารถสร้างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เช่น เราจะมีร้านค้า เราสามารถใช้จอคอมพิวเตอร์บนอินเทอร์เน็ตเป็นหน้าร้าน แทนที่จะมีหน้าร้านโดยตรง และที่สำคัญ ที่นี่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความคิดสร้างนวัตกรรมของแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้คนใช้ประโยชน์ และสามารถทำธุรกิจได้ ถ้าแอพพลิเคชั่นนั้นโดนใจผู้ประกอบการ แม้เพียงแอพพลิเคชั่นเดียวก็สามารถเป็นเศรษฐีได้ในชั่วข้ามคืน ดังนั้นทำงานจะครอบคลุม สื่อสารโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ ไอที บริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตัวเอง”
โดยผู้สนใจ สามารถขอรับ ข้อมูลเพิ่มเติมของหลักสูตรใหม่ สาขาวิศวกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โทรศัพท์ 02 9883655 ต่อ 2339, 2340 เว็บไซต์ http://www.telco.mut.ac.th/