กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--โรงมหรสพ ทองหล่อ
โรงมหรสพ ทองหล่อ ร่วมกับ บริษัท เจนโฟร์ จัดแสดงละครเวที มิวสิคัลเพลงคลาสสิคย้อนยุค (ในปี 2511) ละครแนวคอมเมดี้ ที่ถูกนำมาร้อยเรียงเรื่องราวด้วยบทเพลง ลูกทุ่ง ประชันกับเพลงลูกกรุง ได้อย่างกลมกล่อม จากบทละครดัดแปลงมาจากมิวสิคัลชื่อก้องโลก สู่บทละครเวที “กุลสตรีศรีสยาม” ที่ได้รวมนักแสดงมากฝีมือและประสบการณ์ในการแสดงละครเวทีไว้อย่างคับคั่ง เพื่อร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวชวนหัวเสียดสีชนชั้นในสังคมด้วยความรื่นรมย์โสมมนัส สะท้อนบทบาทหน้าที่และคุณลักษณะของกุลสตรีไทย .. ไว้อย่างมีชีวิตชีวาพาสุขสันต์ ทั้งอมยิ้ม หัวเราะและร้องไห้ไปอย่างหลากหลายความรู้สึก ..
ในเรื่องราวของ “อีเกิ้ง” ดวงเดือน เทือกบ้านโพ สาวน้อยขายพวงมาลัยเลือดอีสานผู้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ที่จู่ ๆชะตาฟ้าเล่นกลดลบันดาลให้เธอได้พบกับ รศ.ดร.เทพยพงศ์ วงศ์นิวาสวานร อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ผู้สูงส่งเสียดฟ้า เธอได้ถลำตัวกลายเป็นของเล่นในงานวิจัยของเขาจนพาให้ชีวิตพลิกผัน จากดอกหญ้าไร้ราคา สู่ดอกฟ้าเลอค่าในสวงสังคม เธอไปไกลจนถึงเวทีประกวดนางสาวไทย สาวน้อยจอมทระนงจะสามารถตะแคงตีนเดินอยู่บนหนทางแห่งกุลสตรีศรีสยามนี้ไปอย่างไร เธอจะเลือกเป็นรูปปั้นของใครต่อใคร หรือจะผันตัวไปเป็นคุณนายบ้านท่าน !! เธอจะเลือกทางเดินสู่เดือนดาวพราวพราวระยิบของเธออย่างไร ???? ...
เศรษฐ์สิริ นิรันดร ผู้กำกับการแสดง ที่มีผลงานการกำกับ เขียนบท และการแสดงละครเวทีมาแล้วมากมาย “บทละครเรื่องนี้สนุก เฮฮา มีเรื่องราวเข้าใจง่าย แต่แฝงไปด้วยแนวความคิดและปรัชญาในเรื่องการให้คุณค่ากับตนเองและผู้อื่นซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการดำเนินชีวิตในสังคม และแก่นของละครเรื่องนี้ก็พูดถึงเรื่องความแตกต่างของมนุษย์ การตัดสินผู้อื่นว่าด้อยกว่าตนเอง การมองตัวเองว่าด้อยกว่าผู้อื่น รวมถึงการให้คุณค่ากับรากเหง้าตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคม “ทุนนิยมจ๋า” และสังคมที่สื่อมวลชนส่วนมากได้มีการสร้างต้นแบบหรือ IDOL อะไรบางอย่างให้คนในสังคมพยายามเป็นแบบนั้นแบบนี้เหมือนกันไปหมด ละครเรื่องนี้อาจทำให้เห็นว่าทุกอย่างมีเอกลักษณ์ รากเหล้าและความสวยงามของตัวเอง ความแตกต่างคือความสวยงามที่หลากหลาย และคุณค่าของคนทุกคนขึ้นอยู่ที่ตัวเราเอง"
ปานรัตน กริชชาญชัย ผู้เรียบเรียง และดัดแปลงบทละคร "เคยดู My Fair Lady ของฝรั่งแล้วชอบเป็นทุนเดิม พอมาได้อ่านบทดั้งเดิมเรื่อง Pygmalion ของ George Bernard Shaw ก็ยิ่งน่าสนใจ ได้เห็นจุดเชื่อมโยงระหว่างความสนุกสนานหวานแหววแนวโรแมนติกกับความคิดอันลึกซึ้งระดับปรัชญา จิตวิทยา มนุษยวิทยา บทเรื่องกุลสตรีศรีสยามก็มาจากส่วนผสมนี้ เป็นโจทย์ตั้งต้นของแนวทางบท ประกอบกับสไตล์ของผู้กำกับผู้มีอารมณ์ขันเป็นเลิศล้ำแต่ก็ไม่วายลึกล้ำซ่อนคมบทนี้เปรียบง่ายๆจึงคล้ายช็อคโกแลตสอดไส้วิตามินรวม A-Z กินได้เพลินๆ แต่มีพลังพิเศษแทรกอยู่ อร่อยลืม "
คานธี วสุวิชย์กิต "สำหรับตัวละครที่ผมแสดง คือ รศ.ดร. เทพยพงศ์ วงศ์นิวาสวานร เขาเป็นคนที่มีอุดมคติสูงส่ง และโรแมนติกมาก เขาโรแมนติกกับสิ่งที่หมกมุ่น คือ งานวิจัยที่เขาทุ่มเท เปรียบดังนักซักผ้าขาวที่มีปฏิธานแรงกล้า ผ้าต้องขาวเท่านั้น! ถึงจะดี สะอาด และจะขาวได้ก็ด้วยมือคนแบบเขา เขาสนใจเนื้อผ้า เพื่อต้องการทำให้มันขาวอย่างที่เขาคิด แต่เขาไม่สนใจเนื้อผ้า ในคุณค่าแต่เดิม ที่มี ลักษณะที่มันเป็น ...ด้วยความที่เป็นนักภาษาศาสตร์แบบเขา จะเปรียบให้เป็นเรื่องผ้า ใครจะทำไม! ถ้างงก็โปรดจงรู้ไว้เถอะว่า สติปัญญายังไม่ถึงขั้น รศ.ดร. เทพยพงศ์ คนนี้"
น้ำฝน ภักดี "อีเกิ้ง เป็นตัวละคร ที่จริงใจ คิดยังไงพูดยังงั้น ไม่ชอบความซับซ้อน และไม่เคยกลัวใคร เวลาทำผิดก็จะถูกจับได้ง่ายมาก เพราะเก็บความลับไม่เป็น ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว ก็มีความคล้ายฝนอยู่เหมือนกัน แต่เป็นฝนในเวอร์ชั่นตอนเด็ก ซึ่งมันก็นานมาแล้ว 5555 ความยากอยู่ตรงนี้ เพราะเวลาเราโตขึ้น เราคิดเยอะขึ้น เรากลัวมากขึ้น และมีการปั้นแต่งบ้างเพื่อการเข้าสังคม...ซึ่งจริงๆ แล้ว แบบเกิ้งต่างหากที่มีเสน่ห์ บทนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมากในการค้นหาตัวเองอีกครั้ง”
โดยละครจะมีรอบการการแสดงรวม 25 รอบ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม – 9 เมษายน 2558 วันละ หนึ่งรอบการแสดง (งดแสดงวัน พฤหัสที่ 19 , 26 มีนาคม และ 2 เมษายน) และทำการแสดง 2 รอบ ในทุกวันเสาร์ เวลา 15.00 น. และ 20.00 น. บัตรราคา 690 บาททุกที่นั่ง
ติดต่อจองบัตรล่วงหน้า : และข้อมูลละครเพิ่มเติมได้ที่ : Tel. 095-542-4555, 095-924-4555https://www.facebook.comThonglorartspace/thonglorartspacebkk@gmail.com