กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดงาน 2 ทศวรรษสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยงานเริ่มจากพิธีเปิดนิทรรศการใหม่ของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ โดยได้รับเกียรติจาก นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานเปิดนิทรรศการพร้อมทั้งเปิดการประชุมเสวนาต่อด้วย ว่าที่ร้อยตรี ดร.นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ ผู้อำนวยการสถาบัน IVPP จากสาธารณรัฐประชาชนจีน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ปิดท้ายด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวรายงานการจัดงาน
จากนั้นเป็นการชมวีดิทัศน์ ชื่อชุด “เหลียวหลัง แลหน้า สู่สถาบันชั้นนำของโลก” ต่อด้วยการประชุมเสวนา เรื่อง สองทศวรรษสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เหลียวหลัง แลหน้า สู่สถาบันชั้นนำของโลก โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นวิทยากร การบรรยายเรื่อง นโยบายและกลยุทธ์การบริหารจัดการสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมนุษยวิทยาบรรพกาล (IVPP) โดย ศาสตราจารย์ ดร.โจ จงเหอ ผู้อำนวยการสถาบัน IVPP กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วจึงเป็นการรับฟังข้อเสนอแนะการพัฒนาสถาบันจากผู้เข้าร่วมการเสวนา ปิดท้ายด้วยการเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานเยี่ยมชมนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดำบรรพ์ และไดโนเสาร์
การจัดงานครั้งนี้ สืบเนื่องจากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้กำเนิดจากการประชุมสัมมนาระดับจังหวัดในเรื่อง “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโคราชในทศวรรษหน้า” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2537ณ โรงแรมสีมาธานี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์สถาบันราชภัฏนครราชสีมาในขณะนั้น เป็นผู้อภิปรายถึงสถานการณ์วิกฤติของไม้กลายเป็นหิน พร้อมทั้งเสนอโครงการอนุรักษ์ในรูปของอุทยานและพิพิธภัณฑ์ จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ดังกล่าวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้ดำเนินงานมาเป็นเวลา 20 ปี โดยที่ผ่านมาสถาบันแห่งนี้ได้แสดงถึงการมีศักยภาพทางด้านทรัพยากรซากดึกดำบรรพ์และทรัพยากรธรณีอื่นๆ ที่มีความโดดเด่นจนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของโลก ด้วยการครบรอบ 20 ปีนี้ จึงได้จัดงานสองทศวรรษสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงประวัติ ความเป็นมาที่ผ่านมา พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิชาการได้รับความรู้จากการเข้าร่วมรับฟังเสวนา รวมถึงรับฟังการบรรยายในเรื่องของบรรพชีวินวิทยาสัตว์ จากผู้เชี่ยวชาญ และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ที่ได้ก่อตั้ง และพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน