กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--IR network
“สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย” ย้ำชัดธุรกิจพลังงานทดแทนปี’58 ของบมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ยังไปได้สวย ตามความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าปั๊มผลงานปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 30% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท พร้อมโชว์งบปี”57 มีกำไรสุทธิ 545 ล้านบาท ระบุต่อจากนี้มุ่งผลักดันผลงานทุกภาคส่วนให้ขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อผลักดันธุรกิจของกลุ่มบริษัทให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่าปีนี้บริษัทยังคงมุ่งเน้นผลักดันให้ผลการดำเนินงานในทุกภาคส่วนของธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารายได้รวมปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท จากปี 2557 ซึ่งบริษัทยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนา โครงการต่างๆ พร้อมกับตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างครบวงจรทั้งการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า (EPC) เพื่อผลักดันธุรกิจของกลุ่มบริษัทให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
"จากโครงการพลังงานทดแทนที่เห็นความชัดเจนมากขึ้นในปี 2558 ทำให้คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องให้ผลการดำเนินงานของ GUNKUL เติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยแนวโน้มตลาดพลังงานทดแทนต่อจากนี้จะยังคงเติบโตได้อีกมาก จากแรงสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมทั้งในด้านการลงทุน แหล่งเงินทุน และกระแสเงินสด รวมถึงมีประสิทธิภาพในการแข่งขันเป็นอย่างมาก ซึ่งบริษัทยังคงตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างครบวงจรทั้งการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า (EPC) เพื่อผลักดันธุรกิจของกลุ่มบริษัทให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง"นายสมบูรณ์กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2557 ของบริษัทและบริษัทย่อยพบว่ามีกำไรสุทธิ 545.27 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายการกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนจำนวน 775.04 ล้านบาทที่เกิดขึ้นในงวดเดียวกันของปีก่อน) โดยมีสาเหตุมาจากบริษัทมีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างจำนวน 1,407.93 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายอยู่ที่ 1,500.01 ล้านบาท,รายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 55.32 ล้านบาท
ด้านส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยปี 2557 อยู่ที่ 269.28 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จนสามารถจำหน่ายไฟฟ้า เชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วครบทุกโครงการ ซึ่งจะยังผลให้บริษัทจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยที่บริษัทได้ถือสัดส่วนเท่ากับ 26.16 เมกะวัตต์ (โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวได้รับ Adder 8 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี)