กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--TCELS
ผู้แทน NIH สหรัฐเข้าพบ “พิเชฐ” หารือความร่วมมือนำองค์ความรู้ด้านจีโนมมนุษย์ประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ของทั้งสองประเทศ พร้อมหนุน TCELS ผนึก รพ.รามาฯ ทำศูนย์จีโนมสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลรักษา มั่นใจการแพทย์แนวใหม่ของไทยไม่แพ้ใครในภูมิภาค
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร. นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS ได้นำ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง เทอรี่ แมนโนริโอ หัวหน้าแผนก จีโนมทางการแพทย์ จาก สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ในสังกัดของ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Human Genome Research Institute, National Institutes of Health,NHGRI หรือ NIH) และ ศ. ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลและ TCELS เข้าพบ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งหารือถึงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการในระดับรัฐบาลระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลไทย สืบเนื่องจากข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ฯ ของทั้งสองประเทศ ที่ได้ประชุมร่วมกันไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556 ที่ NIH
รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ยกประเด็นหารือเรื่องการนำองค์ความรู้ด้านจีโนมมนุษย์ไปประยุกต์ใช้ด้านการแพทย์ในการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคต่างๆให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เช่น งานด้านเภสัชพันธุศาสตร์หรือการปรับเปลี่ยนยาตามความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีนในประชากรไทยเพื่อเลี่ยงการแพ้ยารุนแรงที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต การหาสาเหตุของโรคที่ไม่ทราบสาเหตุในระดับจีโนม และการรักษามะเร็งซึ่งถือว่าเป็นโรคของโครโมโซมเพื่อสามารถใช้ยาที่มีความจำเพาะเข้าสลายเซลล์มะเร็งให้สอดคล้องกับพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อเลี่ยงการใช้เคมีบำบัดซึ่งมีผลข้างเคียงสูง ซึ่งเป็นการแพทย์แนวใหม่ที่จะมีความแม่นยำสูง ที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญพร้อมทั้งงบประมาณเป็นอย่างมากโดยได้กล่าวไว้ในแถลงการณ์ในวาระเปิดสภาฯประจำปี 2558 โดยการแพทย์แนวใหม่ที่จะมีความแม่นยำสูงนั้น จะต้องอาศัยข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยรวมทั้งญาติสายตรงทั้งจีโนมมาใช้วิเคราะห์เพื่อการรักษา โดยท่านรัฐมนตรีฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก
ประธานกรรมการ TCELS กล่าวว่า นอกจากนี้ ศ.พญ.เทอรี่ ยังได้แสดงความประสงค์ขอมาดูการดำเนินการเภสัชพันธุศาสตร์ ณ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งการดูแลรักษาผู้ที่แพ้ยารุนแรงในกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสันซึ่งเกิดขึ้นในประชากรไทยและในภูมิภาคเอเซียนในอัตราที่สูงกว่าชนชาติอื่น โดยเป็นโครงการร่วมมือระหว่าง ร.พ. รามาธิบดีและ TCELS โดยทางสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าโครงการจีโนมทางการแพทย์ด้านนี้ของประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านการนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลเป็นอันดับต้นๆของโลก และใช้เป็นกรณีศึกษา รวมทั้งยังมาร่วมสังเกตการณ์ประชุมเภสัชพันธุศาสตร์ประจำปีในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ South East Asian Pharmacogenomics Research Network (SEAPHARM) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นร่วมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการประชุมครั้งที 1 หนึ่งและที่สองจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2555-2556 ประชุมครั้งที่สามจัดขึ้นที่ประเทศอินโดนิเชียในปี พ.ศ. 2557 ครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่มาเลเชียในระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ครั้งต่อไปในปี พ.ศ. 2559 จะกลับมาจัดในประเทศไทยอีกครั้งก่อนไปจัดที่ประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2560
ด้าน ดร.นเรศ กล่าวว่า ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐบาลไทย ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ต่อยอดสานต่องานให้ก้าวสู่ระดับแนวหน้าของภูมิภาค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านจีโนมเป็นหนึ่งในงานที่ต้องเร่งพัฒนา จากการหารือในครั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าควรจะศึกษาประเด็นความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมการทำฐานข้อมูลพันธุกรรมระดับจีโนมพร้อมทั้งข้อมูลการรักษาทางคลินิคควบคู่ร่วมไปด้วย นอกจากนี้ควรครอบคลุมได้ทั้งด้านการแพทย์และการเกษตรไปพร้อมๆกัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ข้อมูลพันธุกรรมด้านการแพทย์ได้แก่ TCELS เป็นหน่วยที่ส่งเสริมงานด้านเภสัชพันธุศาสตร์และจีโนมทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นงานบริการในโรงพยาบาลและชุดตรวจขึ้นแล้วในปัจจุบัน ส่วนศูนย์ไบโอเทคซี่งเป็นหน่วยงานที่มีหน่วยโปรตีโอมิกส์ จะเน้นผลิตภัณฑ์จากพืชและการเกษตร