บีโอไอชี้มาตรการสิทธิประโยชน์สร้างผลลัพธ์เชิงบวกมากว่ารายได้รัฐที่สูญไป

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday March 18, 1998 13:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
บีโอไอแจงมาตรการให้สิทธิประโยชน์ภาษีนักลงทุนไม่ได้ทำให้รัฐเสียรายได้ถ่ายเดียว ระบุตัวเลขสำรวจบริษัทที่ได้รับส่งเสริมกว่า 600 บริษัทหมดสิทธิประโยชน์และต้องจ่ายภาษีให้รัฐแล้วกว่า 9,500 ล้านบาท มากกว่าบริษัทที่ได้รับยกเว้นภาษี รวมทั้งยังมีผลประโยชน์ด้านอื่นเกิดขึ้นต่อเนื่องด้วย อาทิ การจ้างแรงงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รองเลขาธิาการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในภาวะการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในฐานะลำบากต้องหารายได้เข้ารัฐจำนวนมาก บีโอไอ ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศด้วยการใช้มาตรการจูงใจด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจึงมีข้อห่วงใยว่า บทบาทดังกล่าวมีส่วนทำให้รายได้ของรัฐต้องลดลงไปอย่างมาก
ในเรื่องนี้ นายจักรมณฑ์ กล่าวชี้แจงว่า การมองเรื่องสิทธิประโยชน์แต่ในด้านที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ทางเดียวไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะต้องดูผลตอบแทนอันเนื่องมาจาการลงทุนที่เกิดขึ้นด้วย เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลหลังจากหมดสิทธิประโยชน์ การจ้างแรงงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
จากการสำรวจของบีโอไอ บริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในสาขาต่าง ๆ ปี 2539 จำนวน 622 ราย มียอดขายรวม 1.3 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีเพียง 162 บริษัทที่ได้รับยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล เป็นมูลค่าประมาณ 6,800 ล้านบาท ขณะที่อีก 254 บริษัทหมดสิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นรายได้นิติบุคคลไปแล้วและต้องเสียภาษีดังกล่าวให้รัฐกว่า 9,500 ล้านบาท ทำให้รัฐยังมีรายได้สุทธิจากการจัดเก็บดังกล่าวอีกเกือบ 3,000 ล้านบาท
"ในความเป็นจริงบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไม่ได้รับยกเว้นภาษีไปตลอด เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งบริษัทเหล่านั้นก็ต้องกลับมาเสียภาษีตามปกติ ซึ่งการส่งเสริมของบีโอไอในช่วงเริ่มต้นของโครงานถือเป็นการช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการเป็นการแข่งขันดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศ ซึ่งในต่างประเทศแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาก็มีมาตรการเช่นนี้แต่รูปแบบต่างกันโดยบางมลรัฐสนับสนุนในรูปของที่ดินให้เปล่าโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมหรือภาษีใด ๆ เป็นต้น"
รองเลขาธิการบีโอไอกล่าวต่อว่า การยอมเสียรายได้บางส่วนไปในช่วงแรกจึงไม่เป็นการสูญเปล่า เพราะเมื่อนำข้อมูลด้านอื่นมาประกอบแล้วจะเห็นว่า ในจำนวนตัวอย่าง 622 บริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 350,000 คน และเมื่อประเมินโดยคำนวณจากค่าแรงขั้นต่ำแล้วสามารถส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมได้ประมาณ 400 ล้านบาท
สำหรับด้านการยกเว้นอากรขาเข้า ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 เป็นการยกเว้นให้แก่วัตถุดิบที่นำเข้าเพื่อผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งภาระภาษีจุดนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสม เนื่องจากรัฐต้องการให้สินค้าส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
ทั้งนี้ บีโอไอให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งออกมาก ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด 300 รายในปี 2539 เป็นบริษัทที่ได้รับส่งเสริมถึง 225 รายโดยมียอดส่งออกกว่า 6.7 แสนล้านบาทหรือร้อยละ 60 ของยอดการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของทั้งประเทศ หรือร้อยละ 50 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด
นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า การให้สิทธิประโยชน์เป็นเรื่องจำเป็น เพราะในอดีตที่ผ่านมาโครงสร้างภาษีของประเทศไทย ไม่ได้เอื้ออำนวยที่จะดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้นโยบายสิทธิประโยชน์ยังได้นำไปสนองวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาหลายประการ ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการกระจายการลงทุนไปสู่ภูมิภาค การสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนได้ทัดเทียมกับส่วนกลาง และยังพัฒนานักธุรกิจท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ ขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี บีโอไอตระหนักดีว่ามาตรการด้านสิทธิประโยชน์จะะมีบทบาทลดลงในอนาคต เนื่องจากการปรับปรุงระบบภาษีอากร โดยทั่วไปจะอยู่ในอัตราที่เหมาะสมขึ้นทำให้ผู้ประกอบการมีภาระภาษีน้อยกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน บีโอไอก็พยายามปรับเปลี่ยนบทบาท ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่ตลาดเวลา ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นปัจจุบันสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก็จะมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และมุ่งปรับบริการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในด้านอื่นๆ อีกด้วย--จบ--

แท็ก บีโอไอ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ