กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์
นาโนไฟแนนซ์เป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งปัจจุบันมีปริมาณยอดหนี้กว่า 5 ล้านล้านบาท และเป็นภาระหนักของกว่า 8 ล้านครัวเรือนไทย ในปี 2557 จำนวนครัวเรือนในประเทศไทยที่มีรายได้ไม่เพียงพอรายจ่ายมีสูงถึง 8 ล้านครัวเรือนหรือคิดเป็นจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือน[1] โดยแต่ละครัวเรือนมีหนี้นอกระบบสูงถึงครัวเรือนละ 600,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จึงได้พยายามออกมาตรการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกโครงการโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้น จะมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เช่น ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น โดยผู้ที่ประสงค์จะขอสินเชื่อดังกล่าวสามารถกู้ได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี โดยผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน ส่วนทางด้านผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท รวมถึงมีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ไม่เกิน 7 เท่า (รูปที่ 1)
สาเหตุของปัญหาหนี้นอกระบบที่สำคัญคือ การที่ผู้กู้ไม่คำนึงถึงความสามารถของตนในการชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมการหมุนหนี้ไปเรื่อยๆ จากงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบในสังคมไทย[2] ประชาชนต้องหันไปพึ่งการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบด้วยหลายสาเหตุ ทั้งการไม่มีวินัยทางการเงิน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามกระแสบริโภคนิยมจนทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และยังนำไปสู่พฤติกรรม “การหมุนหนี้” กล่าวคือ เป็นพฤติกรรมที่ผู้กู้มักจะกู้ยืมเพื่อนำเงินจากแหล่งเงินกู้หนึ่งไปใช้คืนแหล่งกู้ยืมอีกแห่งหนึ่งที่เร่งรัดมากกว่า จึงทำให้ผู้กู้มีสภาพความเป็นหนี้ที่รุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ จากมุมมองของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย[3] ปัจจัยที่เป็นรากของพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ถูกต้องได้แก่ 1) ความยากจน ซึ่งทำให้ประชาชนมีความสามารถไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของตนและนำไปสู่การเป็นหนี้ 2) การเติบโตของลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งนำไปสู่การใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง และ 3) ขาดความสนใจในการประยุกต์ใช้ความรู้ทางการเงิน ส่งผลให้การส่งเสริมความรู้ทางการเงินไม่ประสบผลสำเร็จ ปัจจัยทั้งสามทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งต้องหันไปพึ่งพิงการก่อหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นการสร้างภาระดอกเบี้ยที่สูงมากแก่ประชาชน
สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์น่าจะเข้าถึงผู้ที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพราะมีกระบวนการให้สินเชื่อที่จะมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ ที่ผ่านมาหลายๆ รัฐบาลเลือกที่จะใช้สถาบันการเงินของรัฐหรือธนาคารของรัฐเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ (รูปที่ 2) ตัวอย่างเช่น “โครงการธนาคารประชาชน” โดยธนาคารออมสิน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้เงินทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและชำระหนี้อื่นๆ แก่ประชาชน หรือ “โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน” โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ออกมาเพื่อช่วยลดภาระหนี้สินของเกษตรกรอันเกิดจากเหตุจำเป็นที่สุจริต เป็นต้น อย่างไรก็ดีแม้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะมีมาตรการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในหลายรูปแบบ แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้างเพียงบางส่วน สำหรับมาตรการล่าสุดที่ถูกนำมาใช้ คือ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลต่างมุ่งหวังว่าจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้นและบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบได้ตรงจุดมากขึ้น เพราะลักษณะเด่นของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ คือ กระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ กล่าวคือไม่จำเป็นต้องมีรายได้ประจำ สลิปเงินเดือน หรือเคยเดินบัญชีกับธนาคารมาก่อน ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน รวมถึงหากผู้กู้เคยติดเครดิตบูโรมาก่อนก็จะพิจารณาผ่อนผันให้ เป็นต้น (รูปที่ 3)
อีไอซีมองว่ายอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ภายใน 2 – 3 ปีแรก น่าจะอยู่ที่ราว 35,000 - 60,000 ล้านบาท โดยความต้องการขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์น่าจะมาจาก 2 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และ 2) กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้วแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สำหรับกลุ่มแรก กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ อีไอซีคาดว่าลูกหนี้ในกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ประมาณ 0.5% - 1% ของปริมาณหนี้นอกระบบทั้งหมด หรือประมาณ 25,000 - 50,000 ล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญที่มองว่าสัดส่วนของหนี้นอกระบบที่จะเข้ามาในระบบมีไม่มากนักคือ กลุ่มลูกหนี้นอกระบบส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันทำให้สามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายและไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนกับการกู้ยืมเงินในระบบแม้จะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่เลือกที่จะเข้ามากู้ในระบบ แต่หากเป็นเพียงการกู้เงินเพื่อที่จะนำไปใช้ชำระหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียวแทนที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ สุดท้ายเงินที่ได้มาก็จะหมดไปและต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบอีกครั้ง สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินแต่จัดอยู่ในชั้นสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) คือ ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เกินกว่า 30 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน (รูปที่ 4) ซึ่งกลุ่มนี้มีความต้องการเงินเพื่อนำไปใช้ในการหมุนหนี้ที่ตนมีอยู่ในระบบเพื่อไม่ให้เสียเครดิตบูโรจนไม่สามารถที่จะกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบได้อีก ปัจจุบันยอดหนี้ของลูกหนี้ที่จัดอยู่ในชั้นนี้มียอดสินเชื่อ ณ ปลายปี 2557 ราว 32,700 ล้านบาท โดยอีไอซีคาดว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นราว 30% ของปริมาณสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ โดยลูกหนี้กลุ่มนี้น่าจะเข้ามาขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แทนการไปกู้นอกระบบเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์สูงสุดที่ร้อยละ 36 ต่อปีนั้นถือว่าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบมาก
อย่างไรก็ดี การจะขจัดปัญหาหนี้นอกระบบให้เห็นเป็นรูปธรรมยังคงต้องใช้เวลา เนื่องจากปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน แม้มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะสามารถเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวแต่ยังมีเงื่อนไขที่จะบรรลุผลอยู่พอสมควร อีไอซีมองว่าการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ยังต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาให้บริการ ซึ่งจะทำให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เกิดในอัตราที่ไม่สูงนักเนื่องจาก 1) จากผู้ประกอบการหลายรายที่ได้แสดงความสนใจยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จาก ธปท. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก (รูปที่ 5) และผู้ประกอบการต่างตระหนักว่าการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่ผู้กู้จะผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงของตน คาดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าเดิมซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการมีความคุ้นเคยอยู่แล้วมากกว่า ก่อนจะเริ่มขยายการปล่อยสินเชื่อไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ 2) ผู้ประกอบการไม่มีความคุ้นเคยกับลูกหนี้รวมถึงไม่มีช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกหนี้ได้กว้างขวางเหมือนกับเจ้าหนี้นอกระบบ 3) มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ แม้จะมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่น แต่สินเชื่อดังกล่าวยังมีความเสี่ยงอยู่มากจากการที่ไม่มีหลักประกันการกู้ยืมให้กับผู้ปล่อยกู้ ซึ่งในทางปฏิบัติผู้ประกอบการน่าจะมีวิธีการพิจารณาการให้สินเชื่อโดยตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเข้มงวด ส่งผลให้การเข้าถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ของประชาชนยังเป็นไปได้ยากอยู่ดี ดังนั้นเมื่อพิจารณาปัจจัยทั้ง 3 จะเห็นว่า การเคลื่อนย้ายของหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบนั้นคงเป็นไปอย่างช้าๆ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยดูแลเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมความรู้ในเรื่องการออมและการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่ถูกต้องให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น การติดตามแก้ไขพฤติกรรมลูกหนี้หลังจากได้รับความช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้ใหม่อีกครั้ง และที่สำคัญคือการส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
[1] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
[2] ไผทชิต เอกจริยกร อ้างอิงในบทความปัญหาหนี้นอกระบบในสังคมไทย
[3] https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Speeches/Gov/SpeechGov_%2016Dec%202014.pdf
Implication
สำหรับประชาชน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นทางเลือกให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล และมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบ (รูปที่ 3) อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ใหม่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตน รวมถึงต้องมีวินัยทางการเงิน รู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงินให้เหมาะสม ไม่ใช้จ่ายเกินตัว สำหรับแนวทางการแก้ไขในระยะยาวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน รวมถึงธนาคารต่างๆ ของรัฐ ควรเข้าไปให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการประกอบอาชีพ รวมถึงความรู้ในเรื่องการเงิน โดยจะต้องมีความเป็นรูปธรรมให้เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก
สำหรับผู้ประกอบการ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มลีสซิ่งและสินเชื่อส่วนบุคคล อีไอซีมองว่าผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งน่าจะมีความได้เปรียบในการประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เนื่องจากมีกลุ่มฐานลูกค้าเดิมเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว อีกทั้งมีประสบการณ์และมีความคุ้นเคยกับกลุ่มลูกหนี้มาก่อน ดังนั้นการจะขยายฐานลูกค้าเข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่น่าจะทำได้ง่ายกว่า เพราะมีประสบการณ์ในการคัดเลือกลูกค้า คุ้นเคยกับกลุ่มเป้าหมาย และมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี ส่วนด้านผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความได้เปรียบในเรื่องช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีช่องทางการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ อีกทั้งยังมีความชำนาญในการประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันมาก่อน รวมถึงวิธีการติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบงานที่สำคัญของการประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์