กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--WWF-ประเทศไทย
เมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2558 เวลา 20.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ประชาชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้สนับสนุนหลายร้อยล้านคนใน 7,000 เมือง จาก 172 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งสถานที่สำคัญที่เป็นที่รู้จักกว่า 1,200 แห่ง และมรดกโลก (UNESCO world heritage) กว่า 40 แห่งได้ร่วมกันดับไฟที่ไม่ใช้ในกิจกรรม Earth Hour เพื่อมุ่งส่งเสริมการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถึงแม้ช่วงเวลา Earth Hour จะจบลง ผู้สนับสนุนทั่วโลกต่างก็จะยังร่วมหาวิธีการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่รับมือยากที่สุดของโลกในศตวรรษนี้
ในปีนี้ กิจกรรม Earth Hour ภายใต้ธีม “Change Climate Change” หรือ “ปิดเพื่อเปลี่ยน” เป็นกิจกรรมการเฉลิมฉลองที่นับได้ว่าเป็นประวัติการณ์ของโลกด้วยจำนวนประเทศที่เข้าร่วมมากที่สุด 172 ประเทศยืนยันการเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งประเทศที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เช่น ฟิลิปปินส์ มัลดีฟส์ มาดากัสการ์ จีน และ ประเทศบราซิล
สำหรับในประเทศไทยกรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับ WWF-ประเทศไทย (กองทุนสัตว์ป่าโลก) และมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (ประเทศไทย) และพันธมิตรทั้งภาคประชาชน หน่วยงานราชการและภาคธุรกิจในการจัดงาน Earth Hour ขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ที่ดับไฟได้แก่ พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวราราม สะพานพระรามแปด ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ศูนย์การค้าMBK และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ส่วนสถานที่สำคัญที่เป็นที่รู้จักของโลกที่ร่วมดับไฟในค่ำคืนนี้ได้แก่ สะพานโกลเดนเกทในซานฟรานซิสโก หอไอเฟลในกรุงปารีส อะโครโพลิสในนครเอเธนส์ และปราสาทเอดินบะระในสก๊อตแลนด์
ผลการดำเนินการจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2015)” ในปี 2558 สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 1,940 เมกะวัตต์ ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7,499,068 บาท และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,127 ตัน ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยในปี 2557 สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 1,768 เมกะวัตต์ ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 6.76 ล้านบาทและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 947 ตัน
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเพียงปัญหา ณ ชั่วโมงนี้ แต่เป็นประเด็นที่สำคัญของลูกหลานของเราในอนาคต แม้เป็นการปิดไฟเพียงหนึ่งชั่วโมง แต่สิ่งที่ผู้คนนับล้านร่วมดำเนินการตลอดทั้งปี เช่น เมืองคาร์บอนต่ำ การลดการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน จะสร้างแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาที่จำเป็นนี้ และเป็นที่น่าดีใจว่า ในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีความเคลื่อนไหวสูงสุดต่อประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เยาวลักษณ์ เธียรเชาวน์, ผู้อำนวยการ WWF-ประเทศไทย กล่าว
โครงการ Earth Hour เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียในปี 2550 และกิจกรรม Earth Hour ของ WWF ได้พัฒนากลายเป็นกิจกรรมที่ประชาชนท้องถิ่นในแต่ละประเทศสามารถสร้างให้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในระดับโลกและกับประชาชนในระดับท้องถิ่นอันนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันในการรับมือกับปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
สำหรับในประเทศไทย WWF ยังได้จัดกิจกรรม “เมืองนี้ฉันรัก (We Love Cities)” ในโครงการ “ปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน” หรือ “Earth Hour City Challenge” ประจำปี 2015 เพื่อสนับสนุนเทศบาลยั่งยืนของประเทศไทยซึ่งในปีนี้มีสามเทศบาลของประเทศไทยเข้ารอบไปแข่งขันในระดับโลก อันได้แก่ เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา, เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น และเทศบาลตำบลมาบอำมฤต จ.ชุมพร โดยจะมีการประกาศผล Global Earth Hour Capital ในวันที่ 9 เมษายนนี้ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีที่การประชุม ICLEI World Congress 2015
ดาวน์โหลดภาพและวิดีโอ Earth Hour ได้ที่: https://www.dropbox.com/l/Tslpno2lQb4PW7AsU2Mslp
ดาวน์โหลดภาพและคลิปปิดไฟในประเทศไทยและพระบรมมหาราชวัง ปี 2558??https://www.dropbox.com/sh/n74nau35j6z6zcl/AABqkFAluthmDOpuK2XJx9iga?dl=0 )
เข้าชมวิดีโอ Earth Hour 2015 ได้ที่: http://www.ehour.me/eh2015vid
ดาวน์โหลดรูปภาพและคลิปวิดีโอ Earth Hour City Challenge ได้ที่: http://goo.gl/ZfFcd5
เข้าชมภาพถ่ายเกี่ยวกับกิจกรรม Earth Hour ทั่วโลกได้ที่ :http://www.earthhour.org/photo-galleries?