กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--SIPA
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ACM-ICPC World Finals 2016 ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรด้านไอทีของไทย และดันเด็กไทยสู่เวทีโลก
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ACM-ICPC World Finals 2016 ณ ห้องบอลรูม 2 ชั้น 4 โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร
การแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC หรือ The ACM - International Collegiate Programming Contest (ICPC) เป็นการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับอุดมศึกษานานาชาติที่เก่าแก่ที่สุด ตั้งแต่ปี 1977 มีจัดการแข่งขันชิงชนะเลิศระดับโลกเป็นครั้งแรก โดยการแข่งขันนี้มีหลากหลายระดับ ตั้งแต่ภายในประเทศ และระดับภูมิภาคทวีป ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก การแข่งขันดำเนินงานภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์กร ACM (Association for Computing Machinery) และได้รับการสนับสนุนจากบริษัท IBM โดย องค์กร ICPC มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Baylor University, Texas, USA เกือบสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ACM-ICPC ได้กลายมาเป็นโปรแกรมการแข่งขันระดับโลกที่สร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์ และส่งเสริมประสิทธิภาพ ของนักศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ แต่ละปีมีจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันในทุกระดับเพิ่มขึ้นทุกปี การแข่งขันการเขียนโปรแกรมระดับโลก ตั้งแต่ IBM เป็นสปอนเซอร์ให้การแข่งขันในปี 1997 จำนวนผู้เข้าร่วมแข่งขัน ACM-ICPC ได้เพิ่มขึ้นกว่า 1500% และจากสถิติในปี 2014 ที่ผ่านมา ในการแข่งขันระดับท้องถิ่น (Local Contests) ภายในประเทศมีนักศึกษาร่วมแข่งขันกว่า 300,000 คนทั่วโลก และมีผู้เข้าร่วมแข่งขันระดับภูมิภาคทวีป (Regional Contests) ทั้งสิ้น 38,160 คน จากมหาวิทยาลัย 2,534 แห่ง จาก 101 ประเทศใน 6 ทวีปทั่วโลก
รศ. ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า“มหาวิทยาลัยมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ACM-ICPC World Finals ครั้งที่ 40 ในปี 2016 ซึ่งเป็นการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยทางมหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมการแข่งขัน ACM-ICPC มาตั้งแต่ปี 2009 ทั้งในระดับภายในประเทศและระดับภูมิภาคเอเชีย และได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากซิป้าจนถึงปัจจุบัน ทำให้การแข่งขันนี้เป็นที่รู้จักทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ มีมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปินส์ และอินโดนีเชีย มาเข้าร่วมแข่งขันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จากการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับโลก ทางคณะกรรมการ ICPC และ IBMได้พิจารณาเล็งเห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และความพร้อมในด้านสถานที่ของจังหวัดภูเก็ต จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันACM-ICPC World Finals ในปีหน้านี้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณ ICPC Executive Director (Prof. Bill Poucher) ที่ไว้วางใจมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ รวมถึงขอบคุณเจ้าภาพร่วมคือซิป้า และ ผู้สนับสนุนจากสำนักงานจังหวัดภูเก็ต”
พลเอก โสภณ เวคะวากยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติกล่าวว่า “การพัฒนาบุคลากรคุณภาพเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมเป็นภารกิจหลักหนึ่งของซิป้าที่ดำเนินการส่งเสริมในมิตินี้มาอย่างต่อเนื่อง เราเล็งเห็นแล้วว่า บุคลากรด้านไอทีของไทยมีทักษะและศักยภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล และถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย การแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC เป็นกิจกรรมที่ซิป้าให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาไทยมีเวทีแสดงความสามารถ มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์กับผู้เข้าแข่งขันและผู้เชี่ยวชาญจากทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ เรากำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และมีการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy อย่างกว้างขวาง ซิป้าหวังว่า การแข่งขันACM-ICPC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2016 นี้ จะเป็นโอกาสในการยกระดับทักษะและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน นักศึกษา และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยไม่มากก็น้อย”
ดร. ประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่การจัดการแข่งขันระดับโลก ACM-ICPC World Finals จะจัดขึ้น ณ จังหวัดภูเก็ต โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพ ทางจังหวัดภูเก็ตมีความภูมิใจและยินดี ที่จะได้ต้อนรับผู้ร่วมงานจากทั่วโลก ด้วยโรงแรมที่พักชั้นนำและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามในภูเก็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Phuket Fatasea ที่จะเป็นสถานที่จัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ จะสร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงานได้เป็นอย่างดี ในด้านการจัดสนามแข่งขันจะจัดในสนามกีฬาสะพานหิน ที่รองรับการจัดงานนี้ได้เป็นอย่างดี จังหวัดภูเก็ตมุ่งเป้าที่จะส่งเสริมให้เป็น IT City และเป็นผู้นำด้าน IT ในภูมิภาค ASEAN และยินดีที่จะส่งเสริมให้มีกิจกรรมด้านนี้ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานนี้จะประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย”
รูปแบบการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC หรือ The ACM - International Collegiate Programming Contest (ICPC) นั้น ทีมผู้เข้าแข่งขันจะประกอบไปด้วยนักศึกษาสามคนจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน เข้าแข่งขันในหลายระดับของการแข่งขัน มีโค้ชเตรียมทีมด้วยการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องอัลกอริทึม (Algorithms) การเขียนโปรแกรม (Programming) และกลยุทธ์การทำงานเป็นทีม (Teamwork Strategy) ทีมผู้เข้าแข่งขันต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อแก้ปัญหาตามโจทย์ที่ประยุกต์จากปัญหาในชีวิตประจำวัน ปัญหาภาคอุตสาหกรรม และปัญหาจากงานวิจัย เป็นต้น ทีมผู้แข่งขันมีโจทย์ปัญหามากกว่า 8 ข้อให้แก้ ภายในระยะเวลา 5 ชั่วโมง มหาวิทยาลัยเจ้าภาพการแข่งขัน ACM-ICPC ใช้ซอฟต์แวร์ระบบจัดการการแข่งขันและการตัดสิน ภายใต้กติกาและมาตรฐานเดียวกัน ในแข่งขันระดับภูมิภาคในทุกทวีป เพื่อคัดเลือกทีมที่จะได้ผ่านเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับโลกประจำปี หรือ ACM-ICPC World Finals
ผู้เข้าร่วมงาน ACM-ICPC World Finals 2016 ประกอบไปด้วย ทีมผู้เข้าแข่งขันและโค้ชตัวแทนมหาวิทยาลัยที่เข้ารอบชิงชนะเลิศประมาณ 130 ทีม คณะกรรมการจัดการแข่งขันรอบภูมิภาคทวีปต่างๆจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกที่จะมาเข้าร่วมประชุมและดูงาน ทีมงานจัดการแข่งขันและคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน ACM-ICPC World Finals และสื่อมวลชนจากต่างประเทศ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,300 คน ซึ่งคณะผู้จัดงานได้เตรียมงานด้านต่างๆ อย่างยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่แข่งขัน พิธีเปิด และที่พัก เพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,300 คน โดยพิธีเปิดจะจัดขึ้นที่โรงละคร Phuket Fantasea และใช้สนามกีฬาสะพานหิน เทศบาลนครภูเก็ต เป็นสถานที่จัดการแข่งขัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะเจ้าภาพการจัดงานได้ทำงานร่วมกับ ICPC เพื่อจัดการเตรียมงานให้พร้อมสำหรับการแข่งขันระดับโลก ด้วยความร่วมมือและสนับสนุนเป็นอย่างดีจากซิป้า และจังหวัดภูเก็ต โดยคาดหวังว่า จะสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน ACM-ICPC World Finals 2016 ณ จังหวัดภูเก็ต ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสร้างเสริมชื่อเสียงแก่ประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ต ทั้งในด้านการศึกษาและด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และยังเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและเพิ่มเม็ดเงินทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ในอีกทางหนึ่ง
สำหรับในปี 2558 การแข่งขันรอบ World Finals จะจัดขึ้น ณ เมืองมาราเกช ประเทศโมร็อกโก ในเดือนพฤษภาคม 2558 และ จากนั้นในปี 2559 ACM-ICPC World Finals 2016 ซึ่งเป็นการจัดเป็นครั้งที่ 40 จะจัดขึ้น ณ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 15-20 พฤษภาคม 2559
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม:
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อ.อัมรินทร์ ดีมะการ และ อ.เสกสรรค์ สุวรรณมณี (ผู้ประสานงานโครงการจัดการแข่งขัน ACM-ICPC)
ภาควิชาวิศวกรรคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
80 ถ.วิชิตสงคราม อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต 83120
โทรศัพท์: +66 (0)76 276197, โทรสาร: +66 (0)76 276453
E-mail: amarin@coe.phuket.psu.ac.th, sseksun@coe.psu.ac.th
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
นางสาวพลอยพชร ทวีกิติกุล หัวหน้างานฝ่ายพัฒนาบุคลากรและวิชาการ
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทร. 02-141-7176 E-mail: ployphachara.th@sipa.or.th