กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--ธนาคารเอชเอสบีซี
***ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนชี้เงินหยวนขยับเป็นสกุลเงินหลักของโลก***
ธนาคารเอชเอสบีซี เผยผลสำรวจล่าสุด พบว่า เงินหยวนกลายเป็นประเด็นที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัททั่วโลก (ร้อยละ 22) หยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวางในที่ประชุมระดับบริหาร ซึ่งนับเป็นเวลาแค่เพียง 5 ปีภายหลังจากการที่จีนเปิดเสรีค่าเงินหยวน
นอกจากประเทศในกลุ่ม Greater China แล้ว ผลสำรวจผู้มีอำนาจตัดสินใจกว่า 1,600 รายจาก 14 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก พบว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของทีมผู้บริหารระดับสูงในสิงคโปร์ มาเลเซีย เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เห็นว่าเงินหยวนเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ ส่วนผู้มีอำนาจตัดสินใจจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก อย่างออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเห็นว่าเงินหยวนมีศักยภาพในเชิงธุรกิจ มีสัดส่วนไม่ถึง 1 ใน 5 (หรือต่ำกว่าร้อยละ 20)
“การใช้เงินหยวนของบริษัทเอกชนมีปริมาณสูงมากในปีที่ผ่านมา” มร.ไซมอน คูเปอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าว “เงินหยวนเริ่มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแนวโน้มใหม่ในรอบหลายปี และสะท้อนถึงมุมมองใหม่ในกระบวนการเปิดเสรีทางการเงิน จากการที่บริษัทหลายแห่งนอกประเทศจีน เคยมองว่าการใช้เงินหยวนเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงเพื่อได้ประโยชน์ก่อนคนอื่น แต่ขณะนี้บริษัทเหล่านั้นกำลังปรับตัวเพื่อรับเงินหยวน ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจแล้ว ดังนั้น หากคุณกำลังทำธุรกิจกับจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ย่อมไม่อาจมองข้ามการทำธุรกิจในสกุลเงินของจีนได้”
ปริมาณการใช้เงินหยวนเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่จีนได้เริ่มผ่อนคลายอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดธุรกรรมระหว่างประเทศในปี 2552 และจากข้อมูลของ SWIFT ระบุว่า ในปลายปี 2557 เงินหยวนได้กลายเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระหนี้ต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก หลังจากมูลค่าการชำระเงินด้วยสกุลหยวนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัวภายในปีเดียว โดยเงินหยวนได้แข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนมกราคม 2554- เดือนมกราคม 2557 และเริ่มอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 3 ตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐมีอัตราการเร่งตัวที่ดีขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่าง ๆ รวมทั้งเงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน
ในปี 2557 ธนาคารเอชเอสบีซี ได้ทำการสำรวจการใช้เงินหยวนแบบเดียวกันนี้ในตลาด 11 แห่ง โดยในปีนี้ได้เพิ่มตลาดบราซิล มาเลเซีย และเกาหลีใต้ เข้าไปด้วย เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจในปีนี้กับปีที่ผ่านมาเฉพาะตลาดที่เคยสำรวจเดิมทั้ง 11 แห่ง พบว่า บริษัทเอกชนที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ทางการเงินจากการใช้เงินหยวนทำธุรกิจกับจีนมีจำนวนลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 44 เทียบกับร้อยละ 47 ในปี 2557 และบริษัทเอกชนที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายการค้าจากการใช้เงินหยวนทำธุรกิจกับจีนมีจำนวนลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 47 เทียบกับร้อยละ 49
ในบรรดาบริษัทเอกชนทั้งหมดที่ร่วมการสำรวจในปีนี้ พบว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 54) คาดว่าจะมีธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศกับจีนเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนบริษัทนอกภูมิภาคเอเชียที่คาดหวังจะมีการเติบโตการค้ากับจีนมากที่สุด อย่างเช่นบริษัทในสหรัฐ (ร้อยละ 65) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 64) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ 71) และเยอรมนี (ร้อยละ 60) พบว่า ราว 1 ใน 5 ของทีมผู้บริหารบริษัทนอกเอเชียเหล่านี้ มองว่าการใช้เงินหยวนเป็นโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้ ร้อยละ 27 ของบริษัทเอกชนซึ่งยังไม่เคยใช้เงินหยวนมาก่อน จากตลาดทั้งหมด 14 แห่งที่ทำการสำรวจ บอกว่า มีแผนจะใช้เงินหยวนในอนาคต
“ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราได้เห็นมุมมองอันหลากหลายต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เงินหยวนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว” มร.คูเปอร์ กล่าวว่า “ในขณะนี้มีบริษัทเอกชนในสหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ จำนวนเพิ่มมากขึ้น ที่คิดว่าเงินหยวนจะถูกนำไปใช้ชำระค่าสินค้าแก่คู่ค้าที่ไม่ใช่จีนภายใน 5 ปี เหมือนกับทุกวันนี้ที่มีการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับคู่ค้าสหรัฐแต่อย่างใด ในทางกลับกัน เราเห็นบริษัทต่าง ๆ ในไต้หวัน และเยอรมนี มีท่าทีลังเลมากขึ้นในการใช้เงินหยวน ผมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความพร้อมของเงินหยวนในฐานะสกุลเงินของโลก ซึ่งมีความผันผวนในเชิงมูลค่า และความต้องการใช้ที่มีผลมาจากการพัฒนาต่าง ๆ นอกประเทศจีน”
ในช่วงปี 2557 รัฐบาลจีนได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขด้านกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถใช้เงินหยวนได้ง่ายขึ้น และช่วยให้เงินหยวนตอบสนองต่อภาวะตลาดได้มากขึ้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้ใช้เงินหยวนในธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศได้อย่างกว้างขวางทั้งซื้อและขาย และการขยายช่วงห่างการซื้อขายเงินหยวนในประเทศจีนเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งธนาคารที่ให้บริการชำระเงินหยวนใน 10 ประเทศ รวมทั้งฝรั่งเศส แคนาดา ไทย การ์ตา และสหราชอาณาจักร เพื่อช่วยกระตุ้นการพัฒนาศูนย์กลางเงินหยวนในต่างประเทศ
ทั้งนี้ การสำรวจครั้งนี้ของเอชเอสบีซี ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจกว่า 1,600 รายจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศกับจีนหรือจากจีน