กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง บทบาทที่คาดหวังของสื่อมวลชนในสายตาแกนนำชุมชน : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 1,036 ชุมชน จาก 21 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ แพร่ เพชรบูรณ์ พิจิตร น่าน สระแก้ว จันทบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา อ่างทอง ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ยโสธร สกลนคร สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี และสตูล ดำเนินโครงการในวันที่ 27-29 มีนาคม 2558
ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 48.7 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 37.4 ระบุติดตาม 9.7 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 9.7 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 3.8 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.4 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
ทั้งนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างถึงความคาดหวังและการรับรู้จริงต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนนั้น พบว่า บทบาทในการส่งเสริมความสามัคคี คาดหวังร้อยละ 89.1 รับรู้จริงร้อยละ 80.9 (มีค่าส่วนต่าง -8.2) การทำหน้าที่อย่างเป็นกลางไม่เลือกข้าง /ไม่เป็นเครื่องมือรับใช้ของฝ่ายใด คาดหวังร้อยละ 84.6 รับรู้จริงร้อยละ 72.8 (มีค่าส่วนต่าง -11.8 ) การนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านทั้งเชิงบวก-เชิงลบ คาดหวังร้อยละ 87.1 รับรู้จริงร้อยละ 79.2 (มีค่าส่วนต่าง -7.9) การปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน คาดหวังร้อยละ 85.0 รับรู้จริงร้อยละ 89.7 (มีค่าส่วนต่าง +4.7) การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่สร้างความปรองดอง ไม่ทำให้เกิดความแตกแยก คาดหวังร้อยละ 87.3 รับรู้จริงร้อยละ 81.2 (มีค่าส่วนต่าง -6.1) การตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ คาดหวังร้อยละ 85.9 รับรู้จริงร้อยละ 88.7 (มีค่าส่วนต่าง +2.8) การนำเสนอข้อมูลข่าวสารผลการดำเนินงานของรัฐบาลตามความเป็นจริง คาดหวังร้อยละ 91.6 รับรู้จริงร้อยละ83.9 (มีค่าส่วนต่าง -7.7) ในขณะที่บทบาทในการส่งเสริมและรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของคนไทยและประเทศไทย คาดหวังร้อยละ 91.1 รับรู้จริงร้อยละ 92.9 (มีค่าส่วนต่าง +1.8) ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อสื่อมวลชนว่าควรมีบทบาทในการส่งเสริมความสามัคคีและสร้างบรรยากาศปรองดองของคนในชาติหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 87.0 ระบุเห็นด้วย-เห็นด้วยอย่างยิ่ง ร้อยละ 9.7 ระบุค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 2.2 ระบุไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ1.1 ระบุไม่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความสุขที่มีต่อความร่วมมือของรัฐบาลและสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนในปัจจุบันนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ1.3ระบุไม่มีความสุขเลย ร้อยละ 7.6 ระบุค่อนข้างน้อย-น้อย ร้อยละ 64.3 ระบุปานกลาง ร้อยละ 26.8 ระบุค่อนข้างมาก-มาก
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือเมื่อสอบถามแกนนำชุมชนถึงข้อมูลข่าวสารที่ต้องการให้สื่อมวลชนนำเสนอเพื่อให้ประชาชนรับรู้มากที่สุดนั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 23.4 ระบุเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ราคาข้าว ราคายาง รองลงมาคือร้อยละ 13.1ระบุความปรองดอง ความสามัคคีของคนในชาติ ความสงบสุขของบ้านเมือง ร้อยละ 12.3 ระบุเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของรัฐบาล ร้อยละ 11.6 ระบุเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย ร้อยละ 9.8 ระบุปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 7.8 ระบุ เปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการและนักการเมือง ร้อยละ 5.0 ระบุความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร้อยละ 4.8 ระบุการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในขณะที่ร้อยละ 12.3 ระบุอื่นๆ เช่น ปัญหาสังคม อาชญากรรม กฎหมายที่ประชาชนควรรู้ การทำงานของข้าราชการ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดการปัญหาทุจริตรับจำนำข้าว ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น