กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) และสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ร่วมมือกันเพื่อทําให้โรงเรียนนับหลายพันแห่งทั่วประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตได้เป็นครั้งแรก
ตามบันทึกความเข้าใจที่ลงนามเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ. ศ. 2558 ที่ผ่านมานี้ ทางสถาบันเอไอทีจะแบ่งปันหมายเลขอินเทอร์เน็ต ไอพี แอดเดรส (IP address) เวอร์ชั่น 4 จํานวน 32,768 หมายเลข ให้กับสํานักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา หรือ UniNet โดย UniNet เป็นหน่วยงานภายใต้การกํากับของ สกอ. ซึ่งมีความต้องการหมายเลขอินเทอร์เน็ต ไอพี แอดเดรสสําหรับโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทย
โดย UniNet จัดเตรียมข้อมูลความเร็วสูงเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และวิทยาเขตต่างๆ ด้วยการเชื่อมโยงกับเครือข่ายวิจัยที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งทําให้สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยสามารถจัดห้องเรียนเสมือนจริงที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศได้
เนื่องจากในตอนนี้ทั่วโลกกําลังขาดแคลนหมายเลขอินเทอร์เน็ตเวอร์ชั่น 4 อยู่ และด้วยน้ำใจไมตรีของสถาบันเอไอทีที่มีต่อประเทศไทย จะทําให้นักเรียนจํานวนนับหลายพันคนสามารถเรียนรู้และทําวิจัยออนไลน์จากแหล่งเรียนรู้แบบดิจิทัลชั้นสูงได้
สถาบันเอไอทีเองจะได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงงานวิจัยและเครือข่ายการศึกษาผ่านใยแก้วนําแสงความเร็วสูงของ UniNet ด้วยอัตราการส่งผ่านข้อมูล 1 GB/วินาที (1 Gbps) เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ สถาบันเอไอทีจะได้รับสิทธิและเอกสิทธิ์เช่นเดียวกันกับสมาชิกอื่นบนเครือข่ายของ UniNet อาทิ เช่น การเข้าถึงเครือข่ายการศึกษาในประเทศและต่างประเทศเฉกเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆของไทย และการใช้อินเทอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์ IIG และNIX ด้วยเช่นกัน
ดร. กําจร ตติยกวี (ซ้าย) เลขาธิการของ สกอ. ได้กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะเป็นการส่งเสริมความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการในการสนับสนุนการเรียนรู้และการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลักผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยรัฐบาลเองมีเป้าหมายที่จะทําให้ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นการเชื่อมโยงโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยจึงเป็นขั้นตอนสําคัญในการก้าวไปข้างหน้า
ศาสตราจารย์ วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย อธิการบดีสถาบันเอไอที ได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไทยในการให้การสนับสนุนอันดี และทางสถาบันเอไอทีเองมีความยินดีในการร่วมมือกับ สกอ. เพื่อปรับปรุงการเชื่อมโยงออนไลน์ทางการศึกษาของประเทศ