กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงนโยบายการบริหารจัดการสินค้ายางพารา รอบการผลิตปี 2558/59 นั้น ได้ให้นโยบายแต่ละจังหวัดดำเนินการจัดทำประมาณการสมดุลยางพาราของจังหวัด ราคายางพาราแยกตามชนิดยางพาราในจังหวัด โครงสร้างอุตสาหกรรมยางของจังหวัด และระบบตลาดยางในจังหวัด รวมทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตยางพาราในระดับจังหวัด ตลอดจนปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการสินค้ายางพาราในระดับจังหวัด
นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และผลิตสินค้าจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งจากการดำเนินมาตรการโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา และ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา ที่ผ่านมา พบว่า มีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรบางแห่งประสบความสำเร็จได้ผลกำไรจากการดำเนินโครงการฯ พร้อมทั้งขอให้ขยายเวลาดำเนินการอีก 1 ปี และให้เพิ่มตลาดกลางและตลาดท้องถิ่นให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะได้นำปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงและแก้ไขการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินกิจการยางพาราในสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรต่อไป
นายอำนวย ได้กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินมาตรการต่างในการแก้ไขปัญหาและพัฒนายางพาราทั้งระบบของรัฐบาล 16 มาตรการ ประกอบด้วย 1)โครงการบริหารจัดการสต๊อกยางของรัฐ 2) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง 3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา 4) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง 5) โครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา 6)โครงการจัดหาตลาดใหม่เพื่อส่งออกยางพารา 7) โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ/โครงการสนับสนุนผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ยาง 8) โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง 9) โครงการควบคุมปริมาณการผลิต 10) โครงการลดต้นทุนการผลิต 11) โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตยาง 12)โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 13) โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 14) โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง 15) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมและ 16) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง
อนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกร ภายใต้แนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการโรงงานแปรรูปยางพาราให้แก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร และหาแนวทางในการขับเคลื่อนให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร สามารถได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากมาตรการของรัฐบาล
ทั้งนี้ ในปี 2557 มีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวบยางพาราใน 59 จังหวัด รวม 738 แห่ง ซึ่งในการส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรยางพารา มีการบริหารจัดการด้านการผลิตและตลาด ตั้งแต่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร (ต้นน้ำ) การพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ (กลางน้ำ) และการตลาดยางพารา (ปลายน้ำ) และมีสมาชิกปลูกยาง 502,249 ราย พื้นที่ปลูก 4.75 ล้านไร่ ผลผลิต 726,246 ตัน คิดเป็น 16.60% ของประเทศ
สำหรับแผนพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีการปลูกฝัง/เสริมสร้างหลักการและอุดมการณ์ ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามระบบสหกรณ์ สนับสนุนอุปกรณ์การตลาด/ปัจจัยที่จำเป็น เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการสหกรณ์และธุรกิจ ส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบเครือข่าย ตลอดจนการประสานและเพิ่มช่องทางการตลาด ประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ สินค้าคุณภาพ
ผลการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา วงเงิน 10,000 ล้านบาท มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว 297 แห่ง วงเงิน 3,610 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 281 แห่ง วงเงิน 2,907 ล้านบาท รวบรวมยางได้ 442,872 ตัน มูลค่า 16,765 ล้านบาท และจำหน่าย 389,527 ตัน มูลค่า 16,147 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท ได้รับอนุมัติ 32 แห่ง วงเงิน 286.45ล้านบาท
กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลประมาณการของแผนการรวบรวมยางพารา เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบริหารจัดการของธุรกิจยางพาราของสถาบันเกษตรกร ที่จะออกสู่ตลาดในฤดูกาลผลิตปี 2558/2559 โดยมีการสำรวจประเภทยางก้อนถ้วย น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยาแผ่นรมควัน เป็นต้น พบว่า แผนการรวบรวมของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มีความสอดคล้องกับแผนการจำหน่าย โดยสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มีแผนการจำหน่ายยางพารา คิดเป็นร้อยละ 80.56 ของแผนการรวบรวม
สำหรับสินเชื่อเพื่อกู้สร้างและปรับปรุงโรงงานยางพารา มีเป้าหมายในแผนงานที่วางไว้ 209 สหกรณ์ ขอกู้เงิน5,064.22 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา สหกรณ์ได้รับอนุมัติ เงินกู้แล้ว 32 สหกรณ์ วงเงิน 286 ล้านบาทเศษ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างโรงงานใหม่ จำนวน 11 แห่ง วงเงิน 163 ล้านบาท ปรับปรุงโรงงานเดิม จำนวน 21 แห่ง วงเงิน 123ล้านบาท และรอการอนุมัติ 16 สหกรณ์ วงเงิน 21.87 ล้านบาท โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2558 ได้ข้อสรุปการเร่งรัดการพิจารณาการให้สินเชื่อ ดังนี้ 1) มีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่ได้ข้อยุติชัดเจนสามารถอนุมัติได้ภายในเดือนเมษายน2558 จำนวน 74 สหกรณ์ วงเงิน 3,272 ล้านบาท มีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่คุณสมบัติไม่ผ่านและขอถอนเรื่อง 29 สหกรณ์ มีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร 58 สหกรณ์ ที่ไม่เสนอคำขอกู้ มีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ขอเข้าร่วมโครงการเพิ่ม 15 สหกรณ์ วงเงินสินเชื่อ 795 ล้านบาท โดยสรุปมีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร อยู่ระหว่างการพิจารณา 89 สหกรณ์ วงเงิน 4,067 ล้านบาท ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะได้เร่งรัดการติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการฯ ต่อไป