กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ครั้งที่ ๓/๒๕๕๘วันศุกร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น.ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น ๒ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือคณะกรรมการ PPP ในคราวประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๘ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล)เป็นประธานการประชุม ได้มีมติสำคัญดังนี้
๑. เห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุน (แผนยุทธศาสตร์ PPP) และรายการโครงการ PPP (PPP Project Pipeline) โดยมี ๒๐ กิจการภายใต้ร่างแผนยุทธศาสตร์ PPP และมีโครงการใน PPP Project Pipeline จำนวน ๖๕ โครงการ ซึ่งมีวงเงินลงทุนรวม ๑.๓๕ ล้านล้านบาท สรุปได้ดังนี้
กลุ่ม กิจการตามร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ
กลุ่มที่๑กิจการที่สมควรให้เอกชน ๑.กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง
มีส่วนร่วมในการลงทุน(Opt-out)
๒.กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง
๓.กิจการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า
๔.กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง
๕.กิจการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม
๖.กิจการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง
กลุ่มที่๒กิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชน ๑.กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง
มีส่วนร่วมในการลงทุน(Opt-in)
๒.กิจการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแยกและกระจายสินค้า
๓.กิจการพัฒนาระบบตั๋วร่วม
๔.กิจการพัฒนาธุรกิจและบริหารพื้นที่ท่าอากาศยาน
๕.กิจการพัฒนาระบบจัดการคุณภาพน้ำ
๖.กิจการพัฒนาระบบชลประทาน
๗.กิจการพัฒนาระบบจัดการมูลฝอย
๘.กิจการพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ
๙.กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข
๑๐.กิจการพัฒนาด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์
๑๑.กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม
๑๒.กิจการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอล
๑๓.กิจการพัฒนาศูนย์การประชุมขนาดใหญ่
๑๔.กิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยผู้สูงอายุผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
ซึ่งคณะกรรมการ PPP จะนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์ PPP ต่อคณะรัฐมนตรี และหากได้รับความเห็นชอบจะประกาศใช้ภายในเดือนเมษายน ๒๕๕๘ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางสำหรับกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานในสังกัดใช้ต่อไป โดยในปี ๒๕๕๘ จะมีโครงการที่จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนอย่างน้อย ๒ โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ) และโครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (หรือ ICD ลาดกระบัง)
๒. เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับการปรับมูลค่าโครงการที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. PPP จาก ๑,๐๐๐ ล้านบาท เป็น ๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งต่อไปกระทรวงการคลังจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างกฎกระทรวงในการปรับมูลค่าเป็น ๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ น่าจะประกาศใช้ได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันกฎหมายลำดับรองต่างๆ มีผลบังคับใช้ครบถ้วนแล้ว รวมทั้ง หลักเกณฑ์สำหรับรองรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินการนำเสนอโครงการได้ทันที
๓. พิจารณาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีสำหรับโครงการ Motorwayสายบางปะอิน – โคราช ระยะทาง ๑๙๖ กม. และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ระยะทาง ๙๖ กม. รวมทั้ง ได้พิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการคัดเลือกเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย