กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--โรงพยาบาลปิยะเวท
อุณหภูมิที่ร้อนระอุในบ้านเรา ในบางพื้นที่สูงถึง 40 องศา ทำให้คนรักสุขภาพหลายๆ คนเป็นกังวลว่าการออกกำลังกายในช่วงอากาศร้อนจัด หรือการทำกิจกรรมกลางแจ้งนั้นสามารถทำได้หรือไม่ มีข้อดี ข้อเสีย หรือข้อควรระวังอะไรเป็นพิเศษไหม วันนี้แพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวทมีคำตอบค่ะ
นพ.วัชชิระ ตีระพิพัฒนกุล ผอ.ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า “แม้ว่าช่วงนี้จะเข้าสู่ฤดูร้อนแต่ก็พบว่าสภาพอากาศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางวันร้อนจัด บางวันมีพายุฝน ทำให้อากาศเย็นลง สลับกับอากาศร้อนจัด ส่งผลให้หลายคนป่วยได้ง่ายในช่วงเวลานี้ และสำหรับหนุ่มๆ สาวๆ ที่รักสุขภาพ การออกกำลังกายภายใต้อุณหภูมิที่ร้อนจัดเป็นเวลานานๆ อาจจะทำให้ร่างกายต้องรับศึกหนัก เช่น ระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่ทัน การเสียเหงื่อมากเกินไป หัวใจเต้นเร็วขึ้น เส้นเลือดขยายตัวเพื่อรับกับอากาศร้อนจัด ส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงระบบประสาทด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะการออกกำลังกายที่หนักเกินไปและไม่ถูกวิธี จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ในช่วงอากาศแบบนี้ สำหรับโรคที่แนะนำว่าควรระวังในช่วงอากาศร้อนคือ 1.โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) วิธีสังเกตอาการคือ หัวใจเต้นแรงและเร็ว อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศา กล้ามเนื้อเกร็ง รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดลง ในบางราย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและอาจเสียชีวิตได้ 2.ภาวะขาดน้ำ/เพลียแดด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่ออกกำลังกายหนักมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน วิธีสังเกตอาการคือ รู้สึกปวดหรือวิงเวียนศีรษะ ความดันต่ำ ปากแห้ง และมีลักษณะคล้ายจะเป็นตะคริว 3.โรคตะคริวแดด มักพบในคนที่ออกกำลังกายกลางแจ้งหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานานเช่นกัน ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดเกร็งที่กล้ามเนื้อ ถ้ารู้สึกว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ควรหยุดออกกำลังกายทันที และให้รีบเข้าร่มมาอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากภายใน 1 ชั่วโมงอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการอย่างละเอียด 4.โรคผิวไหม้แดด โดยผิวบริเวณที่เป็นจะมีรอยแดง ปวดแสบ ปวดร้อน โดยทั่วไปมักจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หากไม่ออกไปโดนแดดซ้ำ และประคบด้วยความเย็น หมั่นทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็นรอยไหม้เป็นประจำ ถ้าทำเช่นนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ผิวหนัง สำหรับข้อแนะนำในผู้ที่ต้องการออกกำลังกายช่วงหน้าร้อนคือ อบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกาย เลือกช่วงเวลาในการออกกำลังกายโดยไม่ออกกำลังกายในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เลือกสถานที่ออกกำลังกายที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพของอากาศและชนิดกีฬา โดยเลือกสวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี ทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกกำลังกายหรือไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง และที่สำคัญที่สุดควรจิบน้ำบ่อยๆ ระหว่างการออกกำลัง เพื่อทดแทนการสูญเสียเหงื่อและป้องกันภาวะขาดน้ำ”
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่จะให้ประโยชน์หรือโทษนั้นก็อยู่กับสิ่งที่เลือกปฏิบัติ หากไม่ระมัดระวังก็อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีเพราะฉะนั้นต้องหลีกเลี่ยงภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เลือกประเภทและชนิดกีฬาที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่หักโหมหรือออกกำลังหนักจนเกินไป โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ อาจจะปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการออกกำลังกายก่อนจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพียงเท่านี้การออกกำลังกายก็จะเป็นประโยชน์ แก่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย นพ.วัชชิระ ตีระพิพัฒนกุล กล่าวทิ้งท้าย