กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเสนอผลงานประจำปี “คลัสเตอร์วิจัยด้านโรคหัวใจ หลอดเลือดและเมแทบอลิซึม” (Cardiovascular-Metabolic Research Cluster) นำโดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยโครงการวิจัยเพื่อการป้องกัน รักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมนำเสนอความก้าวหน้าการวิจัยกว่า 20 หัวข้อที่เกี่ยวข้อง อาทิ การติดตามผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมกับภาวะบีบตัวของหัวใจผิดปกติแบบสหสถาบัน การติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบสหสถาบัน(ส.ห.ส.) การศึกษาระดับ INR ที่เหมาะสมในผู้ป่วย valvular atrial fibrillation และผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม การพัฒนาแบบประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด “Thai CV Risk Score” เป็นต้น ที่โรงแรมอีสตัน แกรนด์ สาธร กรุงเทพฯ
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด ในประเทศไทยถือเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติ ปัจจุบันพบอัตราการเจ็บป่วยในคนไทยปีละ 1 แสนคน เสียชีวิต 70,000 รายต่อปีหรือเฉลี่ยเสียชีวิต 8 รายต่อชั่วโมง พบมากในกลุ่มวัยแรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและบางรายทุพพลภาพจากอาการอัมพาต ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ ขณะเดียวกันการเจ็บป่วยดังกล่าว ยังส่งผลกระทบถึงค่าใช้จ่ายด้านการรักษาในระบบสุขภาพของประเทศเพิ่มขั้นอย่างน่าตกใจ ดังนั้นการบรรเทาค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพ จะต้องมีการสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัย เพื่อนำมาพัฒนาแนวทางการป้องกันรักษา หรือสร้างแบบประเมินคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ชุดโครงการวิจัยด้านโรคหัวใจ หลอดเลือดและเมแทบอลิซึม แสดงให้เห็นถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนาวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย มีความโดดเด่นสำคัญ 5 ประการ คือ 1.เป็นโครงการที่เกิดจากวิสัยทัศน์ของนักวิชาการ คือ ศ.นพ.สมชาติ โลจายะ และ ศ.นพ.วิชัย ตันไพจิตร ที่มองไกลถึงปัญหาสุขภาพโรคที่เป็นปัญหาของคนไทยในอนาคต จึงเริ่มต้นศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ใน พนง.กฟผ. จำนวน 9,084 คน ที่มีการศึกษายาวนานที่สุดในประเทศมาถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 30 ปี เพื่อติดตามปัจจัยเสี่ยงและการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 2.เป็นโครงการวิจัยที่เป็นแบบอย่างของการวิจัยทางคลินิก การวิจัยทางระบาดวิทยา ที่ผสมผสานกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ในการศึกษาวิจัยในประเด็นที่ประเทศกำลังต้องการองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่มาใช้ประโยชน์ เพื่อหาปรับแนวทางการรักษาพยาบาล การดูแลผู้ป่วย และการป้องกันโรค
“3.เป็นโครงการวิจัยที่มีการพัฒนาในเชิงศักยภาพของการสร้างเครือข่ายอย่างเสมอมา จากการทำงานวิจัยมากว่า 30 ปี ทำให้มีเครือข่ายสหสาขาวิชาเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจ แต่ยังมีสาขาอื่นๆ เข้ามาร่วมศึกษา เช่น ด้านพันธุ์ศาสตร์ ด้านทันตแพทย์ เป็นต้น ถือเป็นการขยายฐานความเข้มแข็งจากศาสตร์ต่างๆ ร่วมดำเนินงานด้านวิจัยให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้การทำงาน 4.เป็นโครงการวิจัยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลก กว่า 10 เรื่อง ถือเป็นโอกาสในการแสดงความสามารถของนักวิจัยของประเทศไทย นอกจากนี้ ผลงานวิจัยยังผ่องถ่ายมาเป็นงานใช้ประโยชน์ เช่น การพัฒนามาเป็นแบบประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด “Thai CV Risk Score” ในการใช้คัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบในสมอง และ 5.เป็นต้นแบบของคลัสเตอร์วิจัย ที่มีการทำงานศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเหมาะกับการเป็นต้นแบบของการเกิดคลัสเตอร์งานวิจัยในประเด็นอื่นๆ” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข จะเน้นหนักในเรื่องของงานควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพ มองว่าแบบประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด “Thai CV Risk Score” จากการวิจัยในชุดโครงการฯ ที่สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นั้น สามารถนำมาใช้ในการทำงานคัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบในสมองในระบบบริการสุขภาพได้ เช่น การนำมาใช้กับทีมหมอครอบครัวที่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มได้ โดยเบื้องต้นจะมอบให้กรมการแพทย์ พิจารณาแบบประเมินดังกล่าวไปใช้ในการทำงานด้านสาธารณสุขต่อไป
ทั้งนี้ แบบประเมิน “Thai CV Risk Score” ได้ออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้มีอายุ 35-70 ปี ที่ยังไม่ป่วย มีคำถามหลักๆ เช่น อายุ เพศ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ โรคประจำตัว ส่วนสูง น้ำหนัก ระดับไขมันในเลือด เป็นต้น จากนั้นระบบจะทำการประมวลผลความเสี่ยงในอีก 10 ปีข้างหน้า ถึงโอกาสการเจ็บป่วย พร้อมกับแนะนำแนวทางในการดูแลตนเอง โดยแบบประเมินความเสี่ยงนี้ยังสามารถใช้ได้กับผู้ไม่มีผลเลือด โดยใช้ขนาดรอบเอวและส่วนสูลแทนค่าระดับไขมันในเลือด ปัจจุบันมีการพัฒนาให้ประชาชนสามารถใช้บนสมาร์ทโฟนและระบบออนไลน์ ได้ทาง http://med.mahidol.ac.th/cvmc/th/event/thaiCVriskscore ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีแบบประเมินความเสี่ยงประเภทนี้
ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. ได้รับมอบหมายจาก วช. ในการสนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าในแผนงานวิจัยเพื่อการป้องกัน รักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ในปี 2557 โดยกลุ่มวิจัยด้านโรคหัวใจ หลอดเลือดและเมแทบอลิซึม ได้รับทุนสนับสนุนดังกล่าว มีความก้าวหน้าในการวิจัยและได้นำมาผลงานมานำเสนอในเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลงานที่โดดเด่นหลายด้าน เช่น การทำ Application Thai CV risk score ผลงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากในการคัดกรองความเสี่ยง ถือเป็นการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่มีอยู่ จะช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนที่จะนำไปสู่การดูแลสุขภาพ ลดการเจ็บป่วยให้กับประชาชนคนไทยเกือบ 70 ล้านคนในอนาคต