กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์
อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ ร่วมกับ คอมเอ็กซ์โพเซียม เปิดตัวงาน SIMA ASEAN Thailand 2015 หวังเป็นเวทีสำหรับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการเกษตร โดยจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2015 Industry Forum อุ่นเครื่องก่อนถึงงานจริง พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรม และการขับเคลื่อนเกษตรไทยสู่ตลาดโลก” โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการเกษตร จากภาคส่วนของอ้อย น้ำตาล เครื่องจักรกลการเกษตร และปศุศัตว์ พร้อมยืนยันเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เป็นส่วนสำคัญการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย
คณะผู้จัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2015 ได้รับเกียรติจาก นายสมพล รัตนาภิบาล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล นายณรงค์ สกุลศิริรัตน์ อุปนายกสมาคมเครื่องจักรกลไทย นายอนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์ อุปนายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และดร. ไกรลาศ เขียวทองนักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ และนายดลมนัส กาเจ นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างอ้อย น้ำตาล มันสำปะหลัง รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตรที่ภาคการเกษตรของประเทศไทย ปัญหาหลักของภาคการเกษตรยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดีเท่าที่ควร ทำให้ตกอยู่ในภาวะต้นทุนสูง ผลผลิตไม่ได้ตามที่คาดหวัง และมีการใช้แรงงานอย่างมหาศาล ทางแก้ไขที่เป็นกุญแจสำคัญของภาคเกษตรไทยคือการใช้ เครื่องจักรกลการเกษตร ที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับลักษณะพืชแต่ละประเภท สามารถช่วยได้ทั้งปัญหาแรงงาน รวมทั้งปริมาณและคุณภาพผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น
ในภาคส่วนของตลาดอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย นายสมพล รัตนาภิบาล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล เผยถึงการคืบหน้าด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเพื่อการส่งออกว่า “ในอีก 5 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติชาติ ที่ระบุว่าจะมีความต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 8 ล้านตัน และนี่คือโอกาสของประเทศไทยในอนาคต เราจึงพยามยามพัฒนาโมเดลฟาร์มที่สามารถใช้เครื่องตัดอ้อย รถตัดอ้อยได้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดแรงงานโดยใช้เวลาเท่ากันแต่ได้ผลผลิตที่มากกว่า สิ่งนี้จะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะพัฒนาเครื่องจักร และเครื่องไม้เครื่องมือให้ทันสมัย การเก็บเกี่ยวในไร่อ้อยยังมีความต้องเครื่องจักรทางการเกษตรอีกมาก รวมถึงเรายังมีความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตในการปลูก”
เช่นเดียวกับตลาดมันสำปะหลัง นายอนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์ อุปนายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ได้สนับสนุนถึงความสำคัญของเครื่องจักรการเกษตรว่า “ในการจัดการเพื่อความยั่งยืนในการส่งออกมันสำปะหลัง เราต้องการหาเครื่องจักรมาช่วยเพิ่มในการเก็บเกี่ยวหัวมันแทนแรงงานคน เพื่อช่วยชาวไร่ให้เก็บเกี่ยวเร็วขึ้น ใช้แรงงานให้น้อยลงและทำงานให้มีประสิทธิภาพ เราต้องส่งเสริมเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ถ้าชาวไร่รวยเมื่อไหร่พวกเราก็สบายด้วย ถ้าชาวไร่ไม่รวยเลิกเพาะปลูกไปก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการขาดแคลนผลผลิต ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ได้ร่วมกันทั้งจากชาวไร่ และเราถ้าเราช่วยชาวไร่ให้ลดต้นทุนได้ เขาก็จะอยู่ดีกินดี และทำการเกษตรต่อ เราก็มีผลพลอยได้คือเราจะมีวัตถุดิบใช้ตลอดไป”
รวมถึง ดร. ไกรลาศ เขียวทอง นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวถึงการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อเลี้ยงสัตว์และการใช้เครื่องจักรกลภายในฟาร์มว่า “การผลิตหญ้าเนเปียร์ก็มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เช่นเดียวกัน หลักๆ จะเป็นการเพิ่มผลผลิตโดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยใช้เครื่องเก็บเกี่ยวที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย แต่เราพบว่าประสิทธิภาพยังสู้ต่างประเทศไม่ค่อยได้ เครื่องที่เราใช้เก็บเกี่ยวหญ้าเนเปียร์ได้ 1 ชั่วโมงต่อไร่ เครื่องจักรที่ผลิตในไทยจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 3 ตัน ขณะที่ของที่นำเข้าจากเยอรมัน 1 ชั่วโมงต่อไร่เก็บได้ประมาณ 50 ตัน เพราะฉะนั้นบ้านเรายังต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องจักรให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น”
สุดท้ายนี้ นายณรงค์ สกุลศิริรัตน์ อุปนายกสมาคมเครื่องจักรกลไทย ได้กล่าวสรุปถึงมุมมองตลาดเครื่องจักรต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตร ที่เน้นย้ำความสำคัญของเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยว่า “พืชหลักๆของประเทศไทยต้องอาศัยเครื่องจักรกลทั้งหมด แต่เรากลับมีการผลิตเครื่องจักรกลไม่มาก เมื่อพิจารณาถึงปัญหาแล้วพบว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เราขาดเครื่องจักรกลพื้นฐานอาทิเครื่องกลึง กัด เจาะ ไส เมื่อเราไม่มีเครื่องจักรกลพื้นฐานก็ทำให้เราด้อยลงในการพัฒนาเครื่องจักรกลอื่นๆ และเครื่องจักรกลที่เป็นหัวใจสำคัญจริงๆ คือเครื่องจักรกลเกษตร และเครื่องจักรแปรรูป เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่พัฒนาเรื่องเครื่องจักรกลให้ทันกับสถานการณ์ เราจะไม่สามารถตามประเทศอื่นได้ทัน บริษัทที่ผลิตเครื่องจักรกลเกษตรอย่างคูโบต้า ยันมาร์ จริงๆไม่ได้ผลิตในประเทศไทย แต่เราผลิตชิ้นส่วนให้แบรนด์ของเขาเอง ถ้าถามถึงอุตสาหกรรมการเกษตรทั้งหมดต้องใช้เครื่องจักรไหมเรามีความจำเป็นในการใช้เครื่องจักรแน่นอน ไม่มีตัวไหนไม่อาศัยเครื่องจักรจุดอ่อนเราอาจบอกได้ว่าเราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไม่มากนักเพราะว่าส่วนใหญ่ภาครัฐก็จะมีงานวิจัยมีการพัฒนาในส่วนของวิชาการ ถ้าพูดถึงภาคเอกชนคือต่างคนต่างทำ ในสมาคมเครื่องจักรกลไทย และในอีกหลายๆ สมาคม เราก็พยายามที่จะรวบรวมกลุ่มผู้ผลิตทั้งหลายให้เป็นความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว”
จากวิสัยทัศน์ของวิทยากรที่มาจากภาคส่วนต่างๆ เห็นพ้องในเรื่องการใช้เทคโนโลยี และเครื่องจักรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และแรงงาน อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประเทศไทยเร่งพัฒนาเครื่องจักรกลให้มีคุณภาพทัดเทียมต่างประเทศ อนึ่งการจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2015 ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกนี้เป็นการเปิดโอกาสที่ดีให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทย ที่จะได้เรียนรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรทางการเกษตรจากนานาประเทศ มาพัฒนาธุรกิจเกษตรให้ทัดเทียมระดับสากล โดยงาน SIMA ASEAN Thailand 2015 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่17 – 19 กันยายน 2558 ณ อาคาร 1 – 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ คุณอัจจิมา ร้อยศรี โทร 02-833-5347 อีเมล์ ajjimar@impact.co.th หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ www.sima-asean.com
สื่อมวลชนติดต่อ:
บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด
คุณสุกัญญา โทร: 02-833-5308 อีเมล์: sukanyasa@impact.co.th
คุณทิตา โทร: 02-833-5316 อีเมล์: titak@impact.co.th