กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
บทสรุป
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2558 จะทรงตัวหรือเติบโตเล็กน้อยจากปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง ต้นทุนค่าแรงและวัสดุก่อสร้างที่ค่อนข้างทรงตัว และบรรยากาศทางการเมืองที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกังวลสำคัญที่มีผลต่อธุรกิจก็มีหลายประการเช่นกัน อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาด ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสำหรับปี 2558 ลงจาก 4% เป็น 3.8% ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ช้ากว่าคาดการณ์ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนก็คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญจะมาจากการลงทุนของภาครัฐและธุรกิจท่องเที่ยว ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีปัจจัยกระตุ้นความต้องการซื้อ ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Agency for Real Estate Affairs (AREA) ระบุว่าจำนวนที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เปิดขายในปี 2557 ลดลงกว่า 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ยอดขายที่ลดลงกว่า 22% ส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2557 เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเมื่อประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวก็อาจส่งผลให้ผู้ซื้อชะลอการตัดสินใจในการซื้อบ้าน
แม้ว่าสภาพตลาดโดยรวมจะดูซบเซาลง แต่ผลประกอบการของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดย ณ สิ้นปี 2557
ทริสเรทติ้งมีการจัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวน 17 ราย (ตารางที่ 1) ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 17 รายมียอดขายที่อยู่อาศัยรวมประมาณ 60%-65% ของยอดขายที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยอดขายที่ค่อนข้างสูงในช่วงปี 2555-2556 ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานในปี 2557 เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ยกเว้น บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัทชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) และบริษัทปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ผลประกอบการอ่อนแอกว่าคาด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีอัตรากำไรที่ดีขึ้นในปี 2557 เนื่องจากส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายทางการตลาดลดลงตามจำนวนโครงการที่เปิดน้อยลงในปี 2557 แต่ภาระเงินกู้รวมเฉลี่ยของผู้ประกอบการทั้ง 17 รายกลับเพิ่มขึ้นเป็น 52.9% ของเงินทุนโดยรวม จาก 50.3% ในปี 2556 ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าคงเหลือ (รวมที่ดิน โครงการระหว่างก่อสร้างและจำนวนที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้ว) ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเกือบ 20% โดยสินค้าคงเหลือดังกล่าวเป็นต้นทุนที่จะต้องใช้เวลาในการระบายประมาณ 3.19 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2556 ที่ใช้เวลาประมาณ 3.16 ปี
ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ยอดขายรวมในปี 2557 ของผู้ประกอบการทั้ง 17 ราย ลดลงเหลือประมาณ 201,000 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 16% จากปี 2556 ที่มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 240,000 ล้านบาท โดยยอดขายที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากยอดขายคอนโดมิเนียมที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 84,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่า 34% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในส่วนของยอดขายบ้านหรือที่อยู่อาศัยแนวราบนั้นยังคงเติบโตที่ระดับ 5% อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการทั้ง 17 รายยังคงมียอดขายที่รอรับรู้เป็นรายได้คงเหลืออยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดย ณ สิ้นปี 2557 ยอดขายสะสมที่รอรับรู้เป็นรายได้ของผู้ประกอบการทั้ง 17 รายอยู่ที่ 230,000 ล้านบาท ลดลงเพียง 7% จากปี 2556 โดยยอดขายสะสมดังกล่าวน่าจะโอนและทยอยรับรู้เป็นรายได้ในปี 2558 และ 2559 ทั้งนี้ ขนาดของยอดขายสะสมที่รอรับรู้เป็นรายได้ดังกล่าวเทียบเท่ากับรายได้รวมประมาณ 1 ปีของผู้ประกอบการทั้ง 17 ราย ยอดขายสะสมดังกล่าวน่าจะช่วยให้ผลการดำเนินการของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา