กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC ที่ระดับ ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ระดับ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความแข็งแกร่งทางการตลาด – อันดับเครดิตของ SCCC สะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยวัดจากส่วนแบ่งการตลาด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ระดับร้อยละ 27 ฟิทช์คาดว่าด้วยชื่อเสียงของตราสินค้าประเภทปูนซีเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง บริษัทฯ จะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดไว้ได้ รวมถึงสามารถรักษาผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Operating EBITDA) ให้อยู่ระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งได้ต่อไปในระยะเวลาห้าปีข้างหน้า
ฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง – ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ วัดโดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) จะเพิ่มสูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงในปี 2558-2559 (ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ระดับ 0.8 เท่า) อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำเป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตของ SCCC และทำให้ บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นทางการเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายลงทุนที่จะเกิดขึ้นจากกลยุทธ์ที่มุ่งขยายการเติบโตของธุรกิจในช่วงสองปีข้างหน้า
รายได้และกำไรเติบโตปานกลาง – ฟิทช์คาดว่ารายได้ของบริษัทฯ ในปี 2558 จะเติบโตในระดับเดียวกับในปี 2557 ที่ประมาณร้อยละ 5-7 (ปี 2557: ร้อยละ 6) อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA margin) น่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 22-23 (ปี 2557: ร้อยละ 24) เป็นผลมาจากแรงกดดันด้านราคาขายที่มีแนวโน้มลดลงจากอุปทานที่เพิ่มสูงขึ้น ฟิทช์คาดว่ารายได้และอัตรากำไรของบริษัทฯ จะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปี 2559 ในทิศทางเดียวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
ผลการดำเนินงานอ่อนไหวต่อราคาพลังงาน – อัตราส่วนกำไรของบริษัทฯ มีความอ่อนไหวต่อระดับราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาถ่านหินและไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิงและไฟฟ้าโดยเฉลี่ยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ราคาถ่านหินในปี 2557 ปรับลดลงจากปีก่อน และคาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องในปี 2558 (ข้อมูลจากธนาคารโลก)
การมีตลาดหลักเพียงตลาดเดียว – อันดับเครดิตของบริษัทฯ ถูกจำกัดจากการที่บริษัทฯ มีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ค่อนข้างน้อย โดยรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทฯ มาจากการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปูนต์ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกันภายในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าการเติบโตของอุปสงค์ของปูนต์ซีเมนต์ในประเทศในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะช่วยทะยอยดูดซับกำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่ รวมถึงกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในปี 2558 ได้ในระดับหนึ่ง แต่กำลังการผลิตโดยรวมของประเทศก็อาจเพิ่มขึ้นได้อีกจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ ในประเทศ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ปริมาณการขายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ระดับราคาขายโดยเฉลี่ยลดลง ในปี 2558-2559
- สัดส่วนรายได้จากการส่งออกยังคงอยู่ในระดับเดิมในปี 2558 และลดลงในปี 2559 จากปริมาณการขายภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
- EBITDA margin ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 22-23 ในปี 2558 และปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2559
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2558-2559
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ยังคงอยู่ในระดับที่สูง ประมาณร้อยละ 70
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีความเป็นไปได้น้อยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่แผนการขยายธุรกิจภายในภูมิภาคที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตได้แก่
- การเพิ่มขึ้นของขนาดธุรกิจและการกระจายตัวของแหล่งรายได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.25 เท่า
ปัจจัยลบ:
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือมีการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินกู้เป็นแหล่งเงินทุน หรือการจ่ายเงินปันผลที่สูงกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) สูงกว่า 2.25 เท่าอย่างต่อเนื่อง