กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ว่า ในวันนี้มีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ของไทย ทั้ง 6 มาตรการ ดังนี้
1)การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำประมง โดยกรมประมงมีการออกหน่วยเคลื่อนที่ (Mobile unit) ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีความคืบหน้าของการจดทะเบียนเรือเพิ่มเติม การต่อใบอนุญาตใช้เรือ และออกใบอนุญาตทำการประมง ทั้งนี้มีเรือที่มาขอใบอนุญาตทำการประมงแต่ไม่ต้องออกใบอนุญาตการทำประมง เช่น เรือปั่นไฟ เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ เป็นต้น และยังได้ออกประกาศเพื่อกำหนดให้เรือประมงไทยทุกประเภทเครื่องมือประมง มาจดแจ้งความประสงค์ในการใช้เครื่องมือทำการประมง อีกประมาณ 10,000 กว่าลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือประมงที่ใช้เครื่องมือควบคุมที่ออกอาชญาบัตรไม่ได้จำนวนกว่า 3,000 ลำ
2)ควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยมีการตั้งศูนย์บัญชาการ (MCS) ที่ส่วนกลาง และภูมิภาค จำนวน 18 ศูนย์ พบผู้กระทำผิดจำนวน 252 คดี และศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก ของเรือประมง จำนวน 26 ศูนย์ เพื่อรับแจ้งและตรวจสอบเรือประมงตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สงขลา ระนอง และภูเก็ต
3)การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) ขณะนี้ กรมเจ้าท่าได้ออกระเบียบข้อบังคับให้เรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป ติดตั้ง VMS ซึ่งได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อ 27 มีนาคม 2558 และจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ 30 วัน
4)การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ โดยมีการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการประมง และผู้ควบคุมเรือประมง เกี่ยวกับการจัดทำสมุดบันทึกการทำประมงและเอกสารการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ออก “ระเบียบกรมประมงว่าด้วยการยื่นคำขอหนังสืออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตและส่งออกไปสหภาพยุโรป พ.ศ. 2558”
5)การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง ได้มีการร่างกฎหมายลำดับรองรวม 70 ฉบับ พร้อมมีการทบทวนและปรับปรุงให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ฉบับใหม่
6)การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPOA-IUU) ซึ่งได้ให้ระยะเวลาคณะอนุกรรมการฯพิจารณา และเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในอีก 2 อาทิตย์
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณางบประมาณในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา IUU จำนวน 272,876,837 บาท จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จะต้องมีการพิจารณาและขอความเห็นชอบจากครม.ก่อน และการพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายตามคำแนะนำของ DG-MARE สหภาพยุโรป ในเรื่องที่เสนอให้ไทยปรับปรุง เพิ่มเติมข้อกฎหมายและการทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิยามต่างๆ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ นอกจากนี้มีการพิจารณามาตรการในการจัดระเบียบเรือประมงไทย ที่ใช้เครื่องมือทำประมงประเภทอวนรุน อวนลาก เนื่องจากเป็นการทำประมงโดยใช้เครื่องมือที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาอยู่เช่นกัน”
“สำหรับการดำเนินการกับเรือประมงต่างชาติ ที่ถูกกักอยู่ท่าเทียบเรือ จ.ภูเก็ต นั้น ในเบื้องต้นได้ดำเนินการตรวจสอบเรือ พบว่ามีการสำแดงข้อมูลที่ไม่ชัดเจนในเรื่องสัญชาติและสินค้าที่เป็นเท็จ ทั้งนี้ กรมประมง กรมศุลกากร และกรมเจ้าท่า ได้รายงานความคืบหน้าในการจัดการและเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการเกี่ยวกับเรือประมงลำดังกล่าว และวางแนวทางปฏิบัติหากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก เนื่องจากได้รับความสนใจและจับตามองจากสหภาพยุโรปว่าประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นายปีติพงศ์ กล่าว