กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดจับมือกับพันธมิตรภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศชูกลยุทธ์ปั้นบัณฑิตจบใหม่ที่มีคุณภาพและพร้อมใช้ ยกระดับคุณภาพการศึกษาและอัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและความสามารถในระหว่างเรียนเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล นักวิชาการเผยแนวโน้มการจ้างงานในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า 3 ปัจจัยแรกที่มีผลต่อการได้งานมากที่สุดคือ ทักษะและความสามารถด้านภาษาอังกฤษคือปัจจัยสำคัญสูงที่สุดที่มีผลต่อการพิจารณารับบัณฑิตจบใหม่เข้าทำงานในองค์กร ลำดับถัดมาคือการเข้าร่วมฝึกงานกับบริษัทชั้นนำในระหว่างภาคการศึกษา และความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำงาน
มร.จิลลส์ คลอเด เบอร์นาด มาเฮ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยนานาชาติลอรีเอท ประเทศไทย (Laureate International Universities, Thailand) เผยกลยุทธ์เตรียมความพร้อมมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน เปิดเผยว่า “สำหรับทิศทางแสตมฟอร์ด เรามุ่งเน้นการสร้างอัตราการเข้าทำงานของนักศึกษา Student Employability เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่นำพาแสตมฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ เป็นการเพิ่มศักยภาพของบัณฑิตจบใหม่และลดช่องว่างการขาดประสบการณ์การทำงานของบัณฑิตปริญญาตรี ด้วยการเสริม Industry Project หรือโครงการฝึกงานจริงร่วมกับบริษัทชั้นนำทั้งในและนานาชาติ นอกจากนี้ยังมีโครงการฝึกงานในต่าวประเทศของหลักสูตร International Hotel Management หลักสูตรผ่านการคิดค้นโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้มุมมองเชิงลึกในสาขาต่างๆ ตลอดจนความร่วมมือจากพันธมิตรธุรกิจที่มีชื่อเสียงในด้านธุรกิจต่างๆในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ในการทำงานจริงๆแบบเข้มข้นตลอดหลักสูตร จะเห็นว่าที่ผ่านมาแสตมฟอร์ดสร้างกิจกรรมโดยผสมผสานแนวคิดของไทยและสากลมาประยุกต์เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพอย่างแตกต่าง อาทิ งานในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความแตกต่างไปจากสิ่งที่เราเห็นจนคุ้นชิน จากจ็อบแฟร์ทั่วไปให้เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทและผู้บริหารได้โดยตรง นำมาซึ่งโอกาสและและการแลกเปลี่ยนทัศนคติอย่างมากกว่ากิจกรรมในรูปแบบเดิม จากการศึกษาพบว่า การเปิดโอกาสให้นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทโดยตรงมีส่วนช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจของบัณฑิตก่อนก้าวสู่โลกทำงานจริงและมอบโอกาสให้ได้เริ่มสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายธุรกิจกับผู้ประกอบการ บริษัทชั้นนำที่รับบัณฑิตของแสตมฟอร์ดที่จบภายใต้กระบวนการสร้างนักศึกษาผ่านแนวคิดที่มุ่งเน้นการพัฒนา Employability ของแสตมฟอร์ด มีความพึงพอใจในผลการทำงานของนักศึกษาทั้งในด้านของภาษา ความรู้ความสามารถและทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ได้รับระหว่างฝึกงาน กอปรกับทักษะและความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ มีความยืดหยุ่นและอดทน และที่สำคัญมีแนวคิดการทำงานแบบสากลคือกล้าคิด กล้าทำแต่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน นี่คือความภาคภูมิใจอีกก้าวหนึ่งของเรา และเรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาประสิทธิภาพและศักยภาพของบัณฑิตจบใหม่ต่อไป”
นางพัสนัย ดอยล์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล และรักษาการผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เปิดเผยว่า “แสตมฟอร์ดขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความพร้อมของบุคลากรไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่ด้วยการส่งเสริมคุณภาพให้นักศึกษาทำงานและทำกิจกรรมระหว่างเรียน โดยที่ผ่านมาผลตอบรับของบริษัทชั้นนำที่ร่วมโครงการตอบรับนักศึกษาจากแสตมฟอร์ดเข้าทำงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งของมหาวิทยาลัยในด้านภาษา กอปรกับการที่นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้สังคมแบบ Multicultural Environment ตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถตอบโจทย์การทำงานในยุคของประชาคมอาเซียนที่กำลังใกล้เข้ามาได้อย่างลงตัว ในยุคนี้หลายๆบริษัทไม่เพียงต้องการบัณฑิตที่มีความสามารถในด้านการทำงานและภาษาเท่านั้น แต่ยังต้องการบุคลลากรที่มี International Mindset คือกล้าคิกล้าทำและกล้าพูดอย่างสร้างสรรค์และสามารถทำงานร่วมกกับคนหลากหลายสัญชาติได้ หลายบริษัทในเครือข่ายความร่วมมือของแสตมฟอร์ดทั้งในและต่างประเทศรับนักศึกษาของเราเข้าทำงานตั้งแต่ก่อนเรียนจบเพราะถูกใจความสามารถด้านภาษาที่โดดเด่น กอปรกับความสามารถแบบพร้อมใช้ในการทำงาน และที่สำคัญนักศึกษาของแสตมฟอร์ดมีแนวคิดเชิงลึกที่สร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมนั้นสามารถตอบโจทย์และมีส่วนช่วยเหลือองค์กรได้มากเพราะได้รับการเทรนจากมืออาชีพของด้านนั้นๆอย่างแท้จริง นี่คือหนึ่งในกลยุทธ์ของแสตมฟอร์ดในเรื่องของความเข้มแข็งของเครือข่ายทางธุรกิจ ที่สามารถนำมืออาชีพที่หาตัวจับยากในด้านต่างๆมาสอนมุมมองแนวคิดที่ทันสมัยและตอบโจทย์ให้กับนักศึกษารวมทั้งสร้างเครือข่ายอาชีพตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย”