กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--อีคอนโพล
วันนี้ (8 เม.ย. 58) อีคอนโพล (ECON POLL) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "เศรษฐกิจช่วงหยุดยาววันสงกรานต์ 2558” ผลสำรวจพบว่า เศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ปีนี้จะคึกคักกว่าปีที่แล้ว 15.8% ประชาชนจะใช้จ่าย 97,600 ล้านบาท ณเดช/ญาญ่า คือ ดารา/นักร้อง/นักแสดง ที่คนอยากเล่นน้ำด้วยมากที่สุด ตัน ภาสกรนที ติดโผคนอยากรดน้ำขอพรจากกระแสชิงโชครถเบนซ์ ชลบุรีและเชียงใหม่น่าไปเที่ยวสงกรานต์มากที่สุด และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ 8 กฎเหล็กเล่นสงกรานต์ แต่บางส่วนค้านเพราะอยากเล่นแป้ง และรถกระบะบรรทุกน้ำ
ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีคอนโพลและโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับเศรษฐกิจช่วงหยุดยาววันสงกรานต์ 2558 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-6 เมษายน 2558 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,270 ราย ทั่วประเทศและทุกจังหวัด โดยการสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว
ผลการสำรวจเกี่ยวกับกิจกรรมช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.9 จะเล่นน้ำสงกรานต์ภายในจังหวัดที่อาศัย ร้อยละ 17.1 จะเดินทางกลับบ้านเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัด ร้อยละ 13.4 จะเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด และมีร้อยละ 3.2 ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยประเทศที่คนไทยจะไปเที่ยวมากที่สุด คือ ลาว ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ตามลำดับ
เมื่อสอบถามว่าถ้ามีคนออกค่าใช้จ่ายให้ จังหวัดที่ท่านอยากไปเที่ยวช่วงหยุดสงกรานต์มากที่สุด พบว่า 5 จังหวัดแรกที่คนอยากไปเที่ยวมากที่สุด คือ จังหวัดชลบุรี ร้อยละ 13.8 เชียงใหม่ ร้อยละ 12.2 กระบี่ ร้อยละ 7.5 ภูเก็ต ร้อยละ 7.1 และ กทม. ร้อยละ 5.6
นอกจากนี้อีคอนโพล ได้สอบถามว่า ในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ ท่านคาดว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการใช้ชีวิตปกติเท่าใด (เช่นค่าที่พัก ค่าเดินทาง ของฝาก อาหารพิเศษ แอลแกฮอล์ อุปกรณ์เล่นน้ำสงกรานต์ เป็นต้น) โดยเฉลี่ยกลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอยู่ที่ประมาณ 4,840 บาท ดังนั้นเมื่อประมาณการจากจำนวน 20,167,519 ครัวเรือนทั่วประเทศ จะมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มเติมในช่วงสงกรานต์ทั้งใช้จ่ายในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 97,600 ล้านบาท
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.2 เห็นว่าจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ร้อยละ 35.4 เห็นว่าจะพอ ๆ กันหรือไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว และอีกร้อยละ 24.4 เห็นว่าจะแย่ลง ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาเป็นดัชนีความเชื่อมั่นจะเท่ากับ 115.8 นั่นคือ เศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ปีนี้จะคึกคักกว่าปีที่แล้ว 15.8% เนื่องจากปีที่แล้วมีปัญหาการเมือง
สรุป: เศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ปีนี้จะคึกคักกว่าปีที่แล้ว 15.8%
สำหรับ ดารา/นักร้อง/นักแสดงชายหญิง และทีมผู้ประกาศข่าว ที่อยากเล่นน้ำด้วยมากที่สุด และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่อยากรดน้ำขอพรด้วยมากที่สุด ผลสำรวจ พบว่า
1.) ดารา/นักร้อง/นักแสดงชาย ที่อยากเล่นน้ำด้วยมากที่สุด
อันดับที่ 1 ณเดชน์ คูกิมิยะ (ร้อยละ 13.1)
อันดับที่ 2 มาริโอ้ เมาเร่อ (ร้อยละ 5.5)
อันดับที่ 3 ไผ่ พงศธร (ร้อยละ 5.2)
อันดับที่ 4 เจมส์ จิรายุ (ร้อยละ 4.0)
อันดับที่ 5 บอย ปกรณ์ (ร้อยละ 3.8)
2.) ดารา/นักร้อง/นักแสดงหญิง ที่อยากเล่นน้ำด้วยมากที่สุด
อันดับที่ 1 ญาญ่า อุรัสยา (ร้อยละ 10.4)
อันดับที่ 2 อั้ม พัชราภา (ร้อยละ 7.7)
อันดับที่ 3 หญิงลี ศรีจุมพล (ร้อยละ 6.0)
อันดับที่ 4 ชมพู่ อารยา (ร้อยละ 5.2)
อันดับที่ 5 ตั๊กแตน ชลดา (ร้อยละ 5.0)
3.) ทีมผู้ประกาศข่าวจากทีวีช่องใด ที่อยากเล่นน้ำด้วยมากที่สุด
อันดับที่ 1 ช่อง 3 (ร้อยละ 51.1)
อันดับที่ 2 ช่อง 7 (ร้อยละ 27.7)
อันดับที่ 3 ช่อง 9 (ร้อยละ 9.5)
อันดับที่ 4 ช่อง 5 (ร้อยละ 6.7)
อันดับที่ 5 ช่อง one (ร้อยละ 3.0)
4.) ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่อยากรดน้ำดำหัวขอพรมากที่สุด
อันดับที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ร้อยละ 34.5)
อันดับที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัด/นายอำเภอ (ร้อยละ 11.8)
อันดับที่ 3 คุณตัน ภาสกรนที (ร้อยละ 5.2)
(จากกระแสลุ้นชิงโชครถเบนซ์)
อันดับที่ 4 พระสุเทพ ปภากโร (ร้อยละ 4.6)
อันดับที่ 5 คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ร้อยละ 4.2)
ท้ายสุดอีคอนโพลได้สอบถามว่า ท่านคิดเห็นอย่างไรกับ 8 กฎเหล็กเล่นสงกรานต์ เช่น ห้ามแป้ง ห้ามน้ำแข็ง ห้ามโป๊เปลือย ห้ามปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ห้ามกระบะบรรทุกน้ำ ห้ามจำหน่ายและดื่มแอลกอฮอล์บริเวณงานสงกรานต์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 65.5 เห็นด้วยกับกฎดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ 34.5 ไม่เห็นด้วย โดยเรื่องที่ไม่เห็นด้วยมากที่สุด คือ ห้ามแป้ง รองลงมาคือ การห้ามกระบะบรรทุกน้ำ
***
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วย เพศชาย ร้อยละ 48.9 เพศหญิง ร้อยละ 51.1 ส่วนใหญ่ร้อยละ 34.4 อายุ 26-35 ปี รองลงมา ร้อยละ 25.8 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 20.8 อายุ 46-55 ปี ร้อยละ 10.7 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 5.1 อายุ 56-60 ปี และร้อยละ 3.1 อายุมากกว่า 61 ปีขึ้นไป
ส่วนระดับการศึกษาประกอบด้วย ร้อยละ 30.8 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี รองลงมาร้อยละ 21.3 เป็นมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 18.5 ระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 13.7 มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 11.3 อนุปริญญา/ปวส. และร้อยละ 2.5 ปริญญาโทหรือสูงกว่า
ด้านอาชีพส่วนใหญ่ร้อยละ 22.8 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาร้อยละ 17.0 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/งานอิสระ ร้อยละ 13.9 รับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 13.5 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.9 รับราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.9 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 7.0 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 6.1 อาชีพอื่นๆ
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่ร้อยละ 30.5 อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท รองลงมาร้อยละ 24.8 มีรายได้ระหว่าง 10,001 - 15,000 บาท ร้อยละ 14.3 มีรายได้ระหว่าง 15,001 - 20,000 บาท ร้อยละ 14.2 มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 13.5 มีรายได้ ระหว่าง 20,001 - 40,000 บาท และร้อยละ 2.8 มีรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป