สพฉ. เผยทีมกู้ชีพจัดกำลังคนเพิ่มขึ้น 2 เท่า พร้อมรับมือ 7 วันอันตราย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 58 คาดสถิติผู้เสียชีวิตลดลง แนะหลัก

ข่าวทั่วไป Thursday April 9, 2015 18:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--สพฉ. ปฏิบัติ 5 ข้อลดอุบัติเหตุ พร้อมวอนอย่าโทรป่วนสายด่วน 1669 หวั่นผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับผลกระทบ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ปี 2558 ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางมากที่สุด และเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่าช่วงปกติ ว่า สพฉ.ได้ประสานไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทั่วประเทศให้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ สายด่วน 1669 ให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว และได้เตรียมพร้อมบุคลากรเพื่อให้เพียงพอต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยจะมีผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ และจังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูง นอกจากนี้ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานด้วย อีกทั้งหากมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ จนระบบการสื่อสารล่ม สพฉ. ได้เตรียมรถสื่อสารพิเศษเพื่อเสริมการสั่งการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยมีประสิทธิภาพด้วย สำหรับจำนวนผู้ปฏิบัติทางการแพทย์ฉุกเฉินมีจำนวนทั้งสิ้น 159,854 คน แบ่งเป็นแพทย์ 1,593 คน พยาบาล 18,823 คน เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ 2,295 คน พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ 5,618 คน อาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ 127,709 คน เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อถึงอัตราการแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ว่า โดยปกติจะเป็นการแจ้งเหตุอุบัติเหตุจราจร ร้อยละ 20 แต่ในช่วงเทศกาลจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 โดยในปีนี้มีการคาดว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะลดลง แต่คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เนื่องจากเรายังไม่มีมาตรการรับมือที่เข้มข้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคร่วมแก้ปัญหาต่อไป อย่างไรก็ตามแนวทางการลดการสูญเสียที่ดีที่สุด คือการป้องกัน ซึ่งจากสถิติของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ จะเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ รองลงมาคือเสียชีวิตขณะนำส่ง และเสียชีวิตในโรงพยาบาล โดยการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุแม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วก็เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 ดังนั้นวิธีการแก้ไขในเรื่องนี้จึงไม่สามารถแก้ได้โดยใช้วิธีทางการแพทย์ฉุกเฉิน แต่จะต้องแก้ในเชิงป้องกัน 5 ข้อ คือ 1. ผู้ขับขี่จะต้องไม่ขับรถเร็ว 2. ขับรถอย่างมีสติ คือ เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ โทรไม่ขับ 3.ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ซ้อนท้ายจะต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง 4. คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และ 5. ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ฝ่าไฟแดง ไม่ขับรถย้อนศร ซึ่งหากทำได้ทั้ง 5 ข้อ จะสามารถลดการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 80 “หากพบผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่ต้องขอความกรุณาอย่าโทรเล่น เพราะทุกวินาทีมีค่าสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน และที่สำคัญอยากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนหลีกทางให้รถฉุกเฉินทันทีเมื่อได้ยินเสียงหรือเห็นสัญญาณไฟวับวาบ โดยให้คิดเสมอว่าผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในรถอาจจะเป็นญาติของเรา เพราะหากผู้ป่วยฉุกเฉินถึงโรงพยาบาลเร็วหมายถึงโอกาสรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้นด้วย” นพ.อนุชากล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ