กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์พ.ศ. 2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 10 เมษายน 2558 เกิดอุบัติเหตุ 324 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 25 ราย ผู้บาดเจ็บ 348 คน กำชับจังหวัดจัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจ ดูแลเข้มข้นบนเส้นทางสายหลัก เน้นบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด กวดขันผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะการขับรถเร็วและการดื่มแล้วขับ พร้อมตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะและอุปกรณ์นิรภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย คุมเข้มพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ - รถตู้โดยสาร ระดับแอลกอฮอล์ต้องเป็น “ศูนย์” ย้ำผู้ขับขี่เตรียมพร้อมก่อนเดินทาง ขับรถด้วยความไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นไปด้วยความปลอดภัย
นายสนิท พรหมวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 9 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “สติ วินัย น้ำใจ ปลอดภัยสงกรานต์ สืบสานประเพณี” เกิดอุบัติเหตุ 324 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 25 ราย ผู้บาดเจ็บ 348 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 25.31 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.38 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.77 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.81 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 46.30 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 26.85 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 30.25 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 50.94 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,243 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,621 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 461,530 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยง 10 มาตรการ รวม 69,366 ราย โดยมีความผิดฐาน ไม่มีใบขับขี่ 20,863 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 20,271 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (16 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กระบี่ และเพชรบุรี (จังหวัดละ 2 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช (จังหวัดละ 19 คน) จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ (อุบัติเหตุเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก บึงกาฬ สมุทรปราการ สุโขทัย หนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 54 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บมี 11 จังหวัด
นายสนิท พรหมวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว คาดว่าบนถนนสายหลัก โดยเฉพาะเส้นทางขาออกจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ภูมิภาคต่างๆ จะมีปริมาณรถหนาแน่น จึงเน้นย้ำให้จังหวัดต่างๆ กำชับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง โดยจัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจบนเส้นทางสายหลัก เส้นทางเลี่ยงและเส้นทางลัด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดูแลเข้มข้นจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ พร้อมบังคับใช้กฎหมายจราจรและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด คุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและการดื่มแล้วขับ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุรุนแรง รวมถึงเข้มงวดรถโดยสารสาธารณะให้มีความปลอดภัย พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะและรถตู้โดยสารต้องมีความพร้อมในการขับรถ ระดับแอลกอฮอล์เป็น “ศูนย์” ตรวจสอบสภาพรถและอุปกรณ์นิรภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย กรณีเป็นรถโดยสารที่วิ่งระยะทางไกลมากกว่า 400 กิโลเมตร ต้องจัดให้มีพนักงานขับรถผลัดเปลี่ยน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน ที่สำคัญ ให้ควบคุมการใช้ความเร็วของรถโดยสารทุกประเภทเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุใหญ่
นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กำชับให้จังหวัดที่เป็นเส้นทางสายหลักผ่านออกสู่ภูมิภาค ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน โดยจัดระบบการจราจร เปิดช่องทางพิเศษ และปรับแผนการจราจรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชนในแต่ละพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์เส้นทางลัดและเส้นทางเลี่ยงเมือง ส่วนเส้นทางสายรองที่ออกสู่ถนนสายหลักและเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ควบคุมการใช้ความเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยเฉพาะการขับรถย้อนศร การฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร การแซงในระยะกระชั้นชิด เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเกิดพายุฤดูร้อนในลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ประกอบกับเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้รถใช้ถนนในการเดินทาง จึงได้กำชับให้จังหวัดตรวจสอบสภาพเส้นทางให้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ที่เสี่ยงต่อการโค่นล้ม รวมถึงตรวจสอบป้ายโฆษณาริมข้างทางและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนเดินทาง ตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ศึกษาและเลือกเส้นทางที่ปลอดภัย เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ ขับรถด้วยความไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ เร็ว เมา โทร ง่วงไม่ขับ เพื่อให้การเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นไปด้วยความปลอดภัย
“สติ วินัย น้ำใจ ปลอดภัยสงกรานต์ สืบสานประเพณี”