กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--มทร.ธัญบุรี
กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) นำเหล่านักศึกษาเข้าร่วมโครงการ “เรียนรู้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม สามารถดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม ณ ศูนย์การเรียนรู้ภัทรศศิธร จ.ปทุมธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพงษ์ อังศุภโชติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา เผยว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนเสาหลักอันสำคัญของสังคมไทย ที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ ชี้แนะแนวทางแก่พสกนิกรชาวไทย เป็นหลักปรัชญาที่หลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศไทยและต่างชาติ ล้วนน้อมนำมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการเกษตร การค้าการลงทุน เรื่องราวทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การบริหารจัดการ รวมถึงใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ในกรอบแนวคิด 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ที่ประชาชนคนไทยรู้จักกันดี
“เรามองเห็นความสำคัญและอยากเน้นย้ำแก่เหล่านักศึกษาเพื่อน้อมนำมาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง โดยลงพื้นที่เรียนรู้ ฟังการบรรยาย แบ่งกลุ่มปฏิบัติ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันแบบวิถีแห่งความพอเพียง ตลอดทั้ง 3 วัน เริ่มตั้งแต่ศูนย์เกษตรอินทรีย์ศรีคันนา ศูนย์การเรียนรู้ภัทรศศิธร อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี และศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก” ผศ.สมพงษ์ กล่าว
อิชย์ - ภาณุพงศ์ ไพบูลย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ (นานาชาติ) เผยความรู้สึกจากการเข้าร่วมโครงการว่า ตนได้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เช่น การเยี่ยมชมศูนย์เกษตรอินทรีย์ศรีคันนาที่ อ.หนองเสือ ซึ่งเป็นสวนผักและผลไม้ที่ปลอดสารพิษ ว่าเขาทำอย่างไรให้ผักและผลไม้เติบโตได้ โดยไม่มีศัตรูพืชมาก่อกวน และไม่ใช้สารเคมี ซึ่งก็คือ การทำปุ๋ยจากมูลด้วงมะพร้าว การใช้น้ำหมักชีวภาพ ทำให้เรียนรู้ว่า ธรรมชาติสามารถจัดการด้วยธรรมชาติได้ และได้ลิ้มลองอาหารจากธรรมชาติ อย่างเช่น ยำดอกไม้ ผักสลัดน้ำหรือวอเตอร์เครส ชุบไข่ทอด แกงเห็ด และปลาทอด ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักจากศูนย์นี้ทั้งหมด หลังจากเข้าโครงการนี้เหมือนว่าน้ำหนักตัวลดลง นับว่าเป็นผลพลอยได้จากการทานผักและผลไม้ที่มากยิ่งขึ้น และจะมุ่งมั่นทานต่อไปเพื่อสุขภาพ
ด้าน นางสาวรดาชม พรมนิวาส (มุกดา) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ตัวแทนจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย สาขาสุขภาพความงามและสปา เล่าในภาพรวมว่าเกือบทุกกิจกรรมที่จัดขึ้น ล้วนสอดแทรกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ ทำให้ตัวเองได้เปิดมุมมอง เปิดความคิดใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น การได้ฝึกอบรมการทำสบู่เหลวและสบู่ก้อนการทำข้าวหลาม การทำน้ำส้มควันไม้ เป็นต้น ได้เรียนรู้การฝึกอาชีพไปในตัว และเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างรายได้เพื่อดูแลตนเองและครอบครัว ระหว่างที่ศึกษาอยู่ เพราะอาชีพเหล่านั้นมีการลงทุนด้วยต้นทุนที่ไม่แพง ทั้งยังได้เรียนรู้ในเชิงเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนและกำไร ตลอดจนแง่คิด คติสอนใจจากวิทยากรตลอด 3 วัน ก็เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตบนหนทางแห่งความพอเพียง โดยส่วนตัวชอบและประทับใจในกิจกรรมการพายเรือเป็นอย่างมาก เพราะการพายในแต่ละครั้งนั้น เหมือนเป็นการบำบัดน้ำเสีย เติมออกซิเจนให้กับแหล่งน้ำ ทั้งยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัว
ขณะที่ นางสาวเชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์ (หยง) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย เล่าว่า ตนเคยได้ยินและเคยเรียนรู้มาบ้าง แต่พอได้สัมผัสของจริง ได้เห็นตัวอย่างและลงมือปฏิบัติจริง คิดว่าเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมเป็นอย่างยิ่ง หากเราน้อมนำไปใช้ในชีวิตประจำวันปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เราอยู่ในสังคมโดยพึ่งพาตนเองและธรรมชาติ อย่างไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เหมือนเป็นการหาจุดสมดุลในชีวิตแบบพออยู่พอกิน และมีความยั่งยืนในอนาคตในส่วนของการออมและการลงทุน มากกว่าความรู้และประสบการณ์คือ การได้พบปะเพื่อนต่างคณะต่างสาขาให้มารู้จักกันเพิ่มขึ้น อยากขอบคุณมหาวิทยาลัยที่จัดโครงการที่เป็นประโยชน์แบบนี้ขึ้นมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่ายังมีอีกหลายอาชีพที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความพอเพียง
นับเป็นอีกก้าวของโครงการเรียนรู้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เสมือนการติดอาวุธทางปัญญาและเสริมสร้างทักษะทางสังคมนักศึกษาให้นักศึกษามีความเข้มแข็ง ทั้งทางกาย ใจ และสติปัญญา